Wednesday 3 July 2013

สิ่งที่ดูเหมือนจะดีเกินจริง มีเงื่อนไขเสมอ

วันก่อนคุณเพื่อนเล่าให้ฟังถึง Electronic Banking ซึ่งเป็น "ลูก" ของธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง Concept คือทำทุกอย่างออนไลน์ มีจุดขายคือให้ดอกเบี้ยเงินฝากไม่ประจำซึ่งฝากถอนได้ตลอดเวลาถึง 3% ต่อปี  สำหรับยอดเงินฝาก 10 ล้านบาทแรก (เขาไม่ใช้คำว่าออมทรัพย์นะ คิดว่าเพราะไม่สามารถใช้ได้) ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ฟังดูดีเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยบัญชีออมทรัพย์ทั่ว ๆ ไปที่ฝากถอนได้ทุกวัน หรือแม้แต่กองทุนประเภทที่ให้ผลตอบแทนในระดับที่ใกล้เคียงกัน (เพราะฝากเงินความเสี่ยงน้อยกว่า)

ตอนที่ได้ยิน สิ่งแรกที่คิดคือ มันมีเงื่อนไขอะไรบ้าง

เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ยังไม่เคยเจออะไรที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าปรกติมาก ๆ เมื่อเทียบกับคู่แข่งลักษณะเดียวกัน เพราะอะไรเหล่านั้นมักจะมีเงื่อนไขมาถ่วง โดยรวมแล้วมันก็จะไม่ได้ดีกว่าปรกติมาก ตัวอย่างที่เคยเจอกับตัวเอง คือ พวกประกันชีวิตออมทรัพย์ที่โทรมาเสนอขาย ตัวแทนทั้งหลายจะพยายามพูดเฉพาะสิ่งที่เราอยากได้ยิน และปล่อยให้เราเข้าใจเอาเอง (ซึ่งมักจะเป็นเข้าใจผิด) แต่พอซักมาก ๆ เข้าจริง ๆ เราจะเจอเงื่อนไขที่เขาพยายามจะไม่พูดเสมอ ล่าสุดที่เจอมา พยายามขายประกันชีวิตออมทรัพย์โดยบอกว่าได้ดอกเบี้ยหมื่นละห้าร้อย ฟังเผิน ๆ คือได้ดอกเบี้ย 5% ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาจะไม่ยอมพูดเลย เพราะเอาเข้าจริง มันไม่ใช่ 5% ต่อปี เพราะอย่างเร็วสุด 2 ปีถึงจะถอนได้ และ มันไม่คิดดอกเบี้ยให้ในส่วนเดิม คิดให้เฉพาะส่วนที่ฝากเพิ่มในปีต่อไป แถมยังเป็นแบบคิดกันจริง ๆ แล้วปีหนึ่งได้ไม่เท่าไร และยิ่งทิ้งไว้นานยิ่งไม่ค่อยคุ้มเพราะเงินต้นส่วนแรก ๆ ที่ไม่ได้ดอกเบี้ยเพิ่ม ก็จะโตขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนที่ได้ดอกเบี้ยมีแค่ส่วนที่ฝากเพิ่มเข้าไป

ส่วนประกันชีวิตอีกอันที่เคยทำ ที่เขาไม่พูดคือ ข้อจำกัดในการถอน มันไม่ได้ถอนได้ทุกปี แต่เป็น 2 ปีครั้ง (รอถอนปีหน้าอยู่เนี่ย)

กลับมาที่ Electronic Banking ที่ว่า

ในเวบไซต์ของธนาคารไม่ได้ให้ข้อมูลเงื่อนไขมากนัก หลาย ๆ อย่างต้องเอามาประมวลเองถึงจะเข้าใจ ซึ่งโดยมากสิ่งที่ต้องเอามาประมวลเอง ก็คือสิ่งที่เป็นข้อจำกัด หรือเงื่อนไขนั่นเอง

โดยทั่วไป ธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ที่เราใช้บริการ มักจะมีบริการทางอินเตอร์เนทให้อยู่แล้ว เพียงแต่โดยมากมันจะเป็นช่องทางที่ให้เราใช้บริการสำหรับบัญชีของธนาคารนั้น ๆ ที่เรามีอยู่ (ที่ใช้อยู่ เท่าที่เห็นก็จะมีบริการเช็คยอด ดูรายการเคลื่อนไหว โอนเงิน ชำระค่าบริการต่าง ๆ) แต่ Electronic Banking อันที่ว่า จะให้เราผูกบัญชีของ Electronic Banking นี้กับบัญชีธนาคารอื่น ๆ ได้ (น่าจะไม่ถึงกับทุกธนาคาร เฉพาะธนาคารที่กำหนด)

อย่างไรก็ตาม เมื่อมันเป็นบัญชี Electronic อย่างเดียว ก็จะไม่มี ATM วิธีการถอนเงินมีอย่างเดียว (จากที่ดูในเวบ) ก็คือ "โอน" ไปยังบัญชีที่ผูกไว้

ประเด็นมันอยู่ตรงคำว่า "โอน" นี่แหละ โดยเฉพาะการโอนเงินต่างธนาคาร เพราะมันจะมีค่าธรรมเนียม

เงื่อนไขการโอน ของบัญชีเงินฝากไม่ประจำที่ว่านี้มีดังนี้
  1. ถ้าบัญชีที่ผูกไว้เป็นของธนาคารบริษัทแม่ ก็จะไม่มีค่าธรรมเนียมการโอน
  2. ถ้าบัญชีที่ผูกไว้เป็นของธนาคารอื่น ๆ
    • โอนวันธรรมการถัดไปมีค่าธรรมเนียม แต่ฟรีค่าธรรมเนียม 2 ครั้งต่อเดือน
    • โอนทันที มีค่าธรรมเนียม (ไม่มีฟรี)
ส่วนเวลาฝาก ถ้าเป็นการโอนจากบัญชีต่างธนาคารที่ผูกเอาไว้ ก็น่าจะต้องมีค่าธรรมเนียมโอนเข้าอีก อย่างไรก็ตาม Electronic Banking นี้มีสาขาให้ฝากเงินเหมือนกัน แต่น้อย

อีกประเด็นหนึ่ง คือ บัญชีนี้คือ บัญชีเงินฝาก "ไม่ประจำ" แต่ไม่ใช้ "ออมทรัพย์" (คิดว่าคงเป็นเหตุผลเงื่อนไขอะไรสักอย่างที่ทำให้มันไม่สามารถเป็น "ออมทรัพย์" ได้) ดังนั้น ภาษีดอกเบี้ยเงินฝากไม่น่าเป็นแบบออมทรัพย์ (ที่ยกเว้นภาษีให้สำหรับดอกเบี้ย 20,000 บาทแรกที่ได้) และคงไม่ใช่บัญชีเงินฝากแบบยกเว้นภาษี (ไม่งั้นจะต้องเอามาเป็นจุดขายแล้ว) แต่หาไม่เจอเหมือนกันว่ามันคิดภาษีแบบไหน ยังไงก็ตาม สิ่งที่ต้องคิดคือ 3% ไม่ใช่ 3% เต็ม ๆ แต่มีการหักภาษี

โดยสรุป
  • มันคือ Internet Banking อีกยี่ห้อ (และอีกเงื่อนไข) ของธนาคารที่เป็นบริษัทแม่เพราะธุรกรรมกับบัญชีที่เป็นของธนาคารบริษัทแม่ ถือเป็นธุรกรรม "ธนาคารเดียวกัน" แต่ธุรกรรมกับต่างธนาคาร มีค่าธรรมเนียม (Internet Banking ที่ใช้อยู่ก็โอนเงินต่างธนาคารได้โดยมีค่าธรรมเนียม เพียงแต่ไม่มีแบบโอนวันรุ่งขึ้นซึ่งให้ฟรี 2 หนต่อเดือน) แต่เป็น Internet Banking ที่ข้อจำกัดเยอะกว่าของธนาคารบริษัทแม่โดยตรง แลกกับดอกเบี้ยที่มากกว่าบัญชีฝากไม่ประจำแบบเดียวกัน
  • ดอกเบี้ยเงินฝากที่ได้ ต้องหักภาษี และคงไม่ใช่เงื่อนไขภาษีดอกเบี้ยเงินฝากออทรัพย์
  • ถึงจะเรียกตัวเองว่าบัญชีเงินฝาก และทำรายการได้ตลอด 24 ชม. แต่สภาพคล่องในการถอนเงินต่างกันด้วยเงื่อนไขการโอนที่ว่า คือถ้าต้องการโอนทันทีฟรีตลอด ก็ต้องเป็นบัญชีธนาคารบริษัทแม่เท่านั้น นอกนั้นฟรี 2 หนต่อเดือนเฉพาะแบบที่โอนวันนี้ได้วันรุ่งขึ้น (และนับการทำรายการหลังสี่ทุ่มเป็นรายการของวันรุ่งขึ้น คือทำรายการ 24 ชั่วโมง แต่มันไมได้มีผลทันทีตลอด 24 ช่วโมงเสมอไป)
  • ข้อดีคือ ไม่มียอดเงินขั้นต่ำ ไม่มีค่ารักษาบัญชี
ที่เอามาเขียนนี่ ไม่ได้กำลังบอกว่ามันไม่ดี อย่าฝากนะ อะไรทำนองนี้ แต่อยากให้มองถึงเงื่อนไขต่าง ๆ ที่มาพร้อมกับผลประโยชน์ที่ได้ ไม่เฉพาะสำหรับรายการนี้ แต่รวมถึงข้อเสนอแบบอื่น ๆ จากผู้ให้บริการรายอื่น ๆ ด้วย เพื่อที่จะได้ประเมินผลประโยชน์จริง ๆ ที่จะได้รับ และเปรียบเทียบ รวมทั้งตัดสินใจในการลงทุน (หรือใช้บริการใด ๆ) ได้ดีกว่าเดิม อย่างบัญชีฝากไม่ประจำอันนี้ ถ้าเราไม่คิดจะถอนเงินเกินเดือนละ 2 หน (คือตั้งใจใช้เก็บเงิน) หรือมีบัญชีธนาคารบริษัทแม่อยู่แล้ว มันก็อาจจะเป็นทางเลือกที่ดี เมื่อเทียบกับการลงทุนประเภทอื่นที่ให้ผลตอบแทนต่อปีใกล้เคียงกัน (ต้องหักภาษีเงินฝากแล้วค่อยเทียบกัน) เช่น ถ้าเทียบกับกองทุนที่ให้ผลตอบแทนต่อปีใกล้เครียงกัน ความเสี่ยงมันก็จะน้อยกว่ามาก หรือเทียบการซื้อประกันชีวิตออมทรัพย์ที่คำนวณแล้วผลตอบแทนต่อปีไม่ต่างกันมาก สภาพคล่องก็จะดีกว่า เพราะถอนฟรีเดือนละ 2 ครั้ง สภาพคล่องก็ยังดีกว่าถอนได้ปีละหน (เป็นอย่างเร็ว) ของประกันชีวิตออมทรัพย์ส่วนมาก (แต่ถ้าระยะยาวทิ้งไว้นาน ๆ ถ้าประกันชีวิตให้ผลตอบแทนดีกว่าแล้วเราไม่คิดจะถอนออกมาก็อีกเรื่อง แล้วแต่ว่าเราอยากทำแบบไหน)

การลงทุนมีความเสี่ยง...และมีเงื่อนไข :-P ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนตัดสินใจ (แม้บางครั้งข้อมูลมันจะแอบอยู่ในที่ที่สังเกตเห็นยาก ก็ต้องล้วงออกมาให้ได้)

Wednesday 26 June 2013

เก็บมาฝากจาก MarketWatch - ความเห็นของ Bill Gross ต่อแผนการชะลอ QE ของ Fed

ช่วงนี้ตลาดหุ้นก็ยังขึ้น ๆ ลง ๆ (ลงมากกว่าขึ้น) ตามความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจต่าง ๆ ในโลกทั้งจีนกับสภาพคล่อง ทั้งตัวเลขดัชนีต่าง ๆ ที่ออกมาดีบ้างไม่ดีบ้าง รวมทั้งเรื่องแผนการชะลอ QE ของ Fed ที่ยังเป็นเรื่องอินเทรนด์อยู่ ช่วงนี้ก็มีหลายฝ่ายออกมาให้ความเห็นแตกต่างกันไปเกี่ยวกับเรื่อง QE บ้างก็เห็นด้วย บ้างก็ว่าเร็วไป ก็เลยเอาบทความซึ่งเป็นความเห็นหนึ่ง (ในหลาย ๆ ความเห็น) มาฝากให้อ่านเป็นอีกหนึ่งมุมมอง ยังไงก็ตาม ก็ไม่สามารถจะวิเคราะห์หรือให้ความเห็นได้ว่ามันถูกหรือผิด ก็คงต้องหาข้อมูลเปรียบเทียบเพิ่มเติม จะได้มองกันหลาย ๆ ด้านต่อไป

บทความนี้อ่านมาจาก MarketWatch เป็นบทความที่เขียนโดย Bill Gross ลองถามอากู๋ว่า Bill Gross เป็นใคร ปรากฎว่า อากู๋ก็ไปถาม ดร.นิเวศน์ต่อที่บล็อก (http://www.thaivi.com/2010/01/106/) โดยสรุปคือ เป็นนักลงทุนที่เชี่ยวชาญการลงทุนในตราสารหนี้และตลาดเงินเป็นอย่างยิ่ง เป็นผู้ร่วมก่อตั้งกองทุนรวมตราสารหนี้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ดังนั้นก็จะถนัดการมองเศรษฐกิจในภาพใหญ่ (Macro)

Bill Gross มีความเห็นต่อแผนการชะลอ QE ของ Fed ว่า ออกจะรีบเร่งเกินไปหน่อย ด้วยเหตุผลต่าง ๆ สรุปได้ประมาณนี้ (ผิดพลาดประการใดขออภัย)

  • ที่ Fed คาดว่าอัตราการว่างงานลดลงเหลือประมาณ 7% กลางปีหน้า (2014) ไม่น่าจะเป็นไปได้ น่าจะอีกนาน
  • Fed เห็นว่าเศรษฐกิจอเมริกาเติบโตช้าเพราะมาตารการเข้มงวดทางการเงิน แต่ Bill Gross เห็นว่าเศรษฐกิจอเมริกา (และอัตราว่างงาน) ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบเชิงโครงสร้างเหล่านี้มากกว่า (ซึ่งเป็นสิ่งที่ Bernanke ไม่ได้พูดถึงเลย)
    • ค่าจ้างแรงงานยังน่าจะยังคงมีแนวโน้มที่จะไม่เพิ่มขึ้น หรือไม่ดีขึ้น ซึ่งเกิดจากแนวโน้มเกี่ยวกับประชากร (Demographic Trend) ของโลก
    • สังคมอเมริกาที่จะกลายเป็นสังคมคนแก่ และการที่คนยุค Baby Boomer เกษียณอายุ ทำให้อุปสงค์ในการบริโภคลดลง
    • เครื่องจักรและเทคโนโลยีที่เข้ามาแทนที่แรงงาน ทำให้งานน้อยลงแทนที่จะเพิ่มขึ้น
  • Fed คาดว่าจะลด QE หากอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นตามเป้าหมายที่วางไว้คือ 2% ซึ่ง Bill Gross เห็นว่าไม่น่าเป็นไปได้ในเร็ววันเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น
    • ปัจจุบันในระบบเศรษฐกิจมีการกู้ยืมสูง ภาคครัวเรือนไม่สามารถจะจ่ายดอกเบี้ยได้สูงกว่านี้อีกมากนัก อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มจาก 20% เป็น 25% ตั้งแต่เดือนมกราคม อัตราการปล่อยสินเชื่อลดลงถึง 35% เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
    • การกู้ยืมที่มากขึ้นทั้งในอเมริกาและทั้งโลก ทำให้ระบบเศรษฐกิจโลกอ่อนไหวกบการปรับอัตราดอกเบี้ยมาก ถ้า Fed เพิ่มหรือลดอัตราดอกเบี้ยเร็วเกินไป ระบบเศรษฐกิจจะรับไม่ได้

ดังนั้น ถึงแม้การพยายามเตรียมให้ตลาดปรับตัวกับการลด QE ที่จะเกิดขึ้นจะเป็นสิ่งที่ควรทำ แต่ถ้าเร่งเกินไปแล้วพบว่ายังไม่สามารถจะลด QE ได้ ก็อาจทำให้สูญเสียความเชื่อมั่นและสภาพคล่องซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนตลาดมาตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา และไม่สามารถกู้คืนกลับมาได้เหมือนเดิม ซึ่งจะทำให้ต้องใช้เวลานานขึ้นกว่าเดิมกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัว

เก็บความจาก Bill Gross: Fed tapering plan may be hasty

ส่วนใครอยากอ่านแถลงการณ์ของ Fed เชิญได้ที่
(ที่แปลภาษาไทยก็มีในเวบของกรมวิชาการเกษตร

Friday 21 June 2013

(มือใหม่เก็บมาฝากตอนหุ้นตก) กรุงเทพธุรกิจทีวี - อวสาน QE ชี้ชะตาตลาดทุนไทย?

หุ้นตกรอบนี้แรง ปิดบัญชีตัวเองแต่ละวันชวนให้เหนื่อยใจและห่อเหี่ยวอย่างยิ่ง และระหว่างวันจะต้องตั้งสติให้ดี ไม่ให้ตัดสินใจซื้อขายหุ้นด้วยอารมณ์โดยไม่ศึกษาข้อมูลแล้วคิดเอาเองว่าราคามันถูก อะไรประมาณนั้น

ข้อดีของสถานการณ์แบบนี้คือมันเป็นโอกาสสำหรับการเรียนรู้ อันแรกคือทบทวนในสิ่งที่ตัวเองทำ หลาย ๆ อย่างที่จะไม่เคยมองเห็นถ้าตลาดมันดี และหุ้นมันขึ้นไปเรื่อย ๆ แต่พอผ่านช่วงที่มีสถานการณ์ผันผวน จะมองเห็นในอีกมุมหนึ่งทันที ซึ่งก็จะเป็นบทเรียนในการลงทุนต่อไป แล้วอีกส่วนที่จะต้องเรียนรู้คือสภาวะตลาดโลกในยามผันผวน ซึ่งมันไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย ๆ อาจจะเป็นเรื่องซับซ้อน แต่ก็ต้องพยายามเรียนรู้ให้ได้ตามสติปัญญาที่มี

สำหรับสาเหตุของความผันผวนในตลาดรอบนี้ ที่ได้ยิน ๆ กันก็คือ QE กับ Fund Flow ไหลออก อยากโพสต์เรื่องนี้ แต่จะเขียนเองก็จนใจและจนปัญญา เพราะเป็นเรื่องที่ซับซ้อนเกินกว่าที่จะทำความเข้าใจได้ถึงระดับที่กล้าเอามาเรียบเรียงเขียนเอง ที่ผ่านมาก็อาศัยอ่านและฟัง พอดีเมื่อวานพ่อบอกให้ลองเปิดรายการ Business Talk ฟัง เพราะวิเคราะห์ได้น่าสนใจ เลยลองมาเปิดย้อนหลังฟังวันนี้ และเห็นด้วยว่าวิเคราะห์ได้น่าสนใจดี เลยเอามาฝากกัน ลองฟังกันดูแล้วก็คิดตาม อาจจะได้อะไรบ้าง

ตัวเองตอนนี้ยังฟังไม่จบและขณะนี้ก็กำลังฟังอยู่ แต่ก็รู้สึกว่าตลาดหุ้นก็เป็นเกมเกมหนึ่ง ถ้ายึดการลงทุนเป็นงาน ก็จะต้องอยู่ในเกมนี้ ซึ่งมันสเกลใหญ่ ถ้าเป็นลูกจ้างอย่างที่เคยเป็น ก็อยู่ในเกมที่สเกลที่มันเกี่ยวข้องกับเราตรง ๆ มันเล็กหน่อย แต่จะเกมไหนก็เหมือนกัน (และท้ายที่สุดมันก็เชื่อมกันเป็นเกมใหญ่ ๆ 1 เกม)  คือมีกฎของเกม มีคนเล่น และทั้งกฎและคนเล่นมันไม่ได้เล่นแบบแฟร์กันเสมอไป ถ้าเลือกจะอยู่ในเกมไหน ก็ต้องหาวิธีเล่นให้ได้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตอนนี้สิ่งที่คิดว่าตัวเองต้องทำคือ ศึกษากฎ เงื่อนไข และผู้เล่นในเกมให้มากที่สุด เพื่อจะได้อ่านเกมได้ดีกว่านี้ในอนาคต และเล่นเกมนี้ให้ได้ดีกว่าที่ผ่านมา

เขียนมาซะยาว.... เชิญรับชม :-)

คลิกที่นี่

(Edit เอา Video ออกใส่เป็น Link แทนเพราะทำให้มันไม่ Autoplay ไม่ได้ -_-")

Friday 14 June 2013

จะเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นต้องทำยังไง และควรรู้อะไรบ้าง

(หมายเหุตก่อนอ่าน - โพสต์นี้ไม่เกี่ยวกับการวิเคราะห์หุ้น หาหุ้นดี หุ้นเด่น จับจังหวะซื้อขาย อะไรพวกนั้น เพราะมือใหม่ยังไม่มีปัญญาจะเขียนอะไรแบบนั้นในตอนนี้)

วันนี้ตลาดหุ้นเขียวไสว การลงทุนในหุ้นจะดูดีมีอนาคตในสายตาประชาชนขึ้นมาทันที ^_^ เราก็เขียนเรื่องที่เกี่ยวกับการเริ่มต้นซื้อขายหุ้นดีกว่า โดยจะเขียนเกี่ยวกับสิ่งที่คนที่จะซื้อขายหุ้นทุกคนต้องทำถึงจะซื้อขายได้ นั่นก็คือ การเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นนั่นเอง


จะเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นต้องทำยังไงบ้าง


ขั้นตอนการเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรพัย์
  1. การเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์นั้น ต้องเปิดบัญชีกับบริษัทหลักทรัพย์ หรือที่เรียกกันว่า โบรกเกอร์ (ดูรายชื่อโบรกเกอร์ที่ให้บริการซื้อขายหลักทรัพย์ได้ ที่นี่ โดยดูอันที่มีเครื่องหมายถูกตรงคอลัมน์ "หุ้น") สนใจโบรกเกอร์รายไหนก็ติดต่อโบรกเกอร์รายนั้น จะติดต่อออนไลน์หรือทางโทรศัพท์หรือที่สำนักงานสาขาของโบรกเกอร์โดยตรงก็ได้

    • เมื่อติดต่อโบรกเกอร์แล้ว โบรกเกอร์ก็จะให้กรอกเอกสารขอเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ และหากต้องการใช้บริการหักบัญชีเงินฝากอัตโนมัติ (ATS) ก็จะต้องกรอกใบคำขอให้หักบัญชีเงินฝากอัตโนมัติ ซึ่งจะมีใบตัวอย่างลายเซ็นที่เหมือนกับลายเซ็นที่เราให้ไว้กับทางธนาคาร รวมทั้งส่งหลักฐานประกอบอื่น ๆ โดยทั่วไปเอกสารที่ต้องใช้ก็จะมี

      • สำเนาบัตรประชาชน
      • สำเนาทะเบียนบ้าน
      • Statement โดยทั่วไปก็จะไปสำเนาสมุดบัญชีเงินฝากย้อนหลัง 6 เดือน (เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาวงเงินซื้อขายหลักทรัพย์) แต่เคยเจอกรณีที่เงินหมุนเวียนในบัญชีมีไม่มาก เพราะเอาไปลงทุนพวกกองทุน ทาง บล. ก็ให้ใช้ Print Out ของหน้า Statement กองทุนประกอบไปด้วย
      • ในกรณีทีต้องการให้หักบัญชีเงินฝากอัตโนมัติ (ATS) ก็จะต้องใช้สำเนาหน้าแรกของสมุดบัญชีเงินฝากที่ต้องการให้หักบัญชีด้วย

      ป.ล. ATS คือการที่อนุญาตให้โบรกเกอร์ตัดบัญชีเงินฝากของเราอัตโนมัติในกรณีที่ต้องจ่ายเงิน เช่น วางมัดจำ หรือซื้อขายออนไลน์ เราจะต้องกรอกแบบฟอร์มยินยอมให้หักบัญชี พร้อมตัวอย่างลายเซ็นที่เหมือนกับลายเซ็นที่เราเซ็นกับสมุดคู่ฝาก ซึ่งทางโบรกเกอร์ก็จะต้องส่งแบบฟอร์มที่เรากรอกแล้ว พร้อมทั้งตัวอย่างลายเซ็นให้ธนาคารเจ้าของบัญชีอนุมัติต่อไป

      1. หลังจากได้รับเอกสารแล้ว โบรกเกอร์ก็จะตรวจสอบเอกสาร และถ้าเรียบร้อยดีก็จะจัดการเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นให้ (แต่ส่วนของการขอหักบัญชีเงินฝากอัตโนมัติ จะต้องรอธนาคารเจ้าของบัญชีอนุมัติก่อน ซึ่งอาจะใช้เวลามากน้อยแล้วแต่ธนาคาร) ถ้าเป็นการซื้อขายออนไลน์ บางเจ้าก็จะให้ตั้ง Username กับ Password แบบชั่วคราวตั้งแต่ตอนสมัครเปิดบัญชี แต่บางเจ้าก็แจ้ง Username กับ Password ที่ใช้เข้าระบบครั้งแรกมาให้ทีหลัง (ส่วนแบบที่ไม่ทำออนไลน์ คือที่เวลาซื้อขายใช้วิธีโทรติดต่อมาร์เก็ตติ้งให้ทำรายการให้นี่ ไม่แน่ใจว่ามีอะไรอื่นต่างกันหรือเปล่านะเพราะเคยใช้แต่ออนไลน์)
      ขั้นตอนข้างต้นเป็นขั้นตอนคร่าว ๆ จากประสบการณ์ในการเปิดบัญชีซื้อขายที่ผ่านมา แต่รายละเอียดปลีกย่อยของแต่ละเจ้าอาจจะต่างกัน ดังนั้น ก็ควรจะตรวจสอบกับเจ้าหน้าที่ของโบรกเกอร์ที่เราจะขอเปิดบัญชีอีกที ทีนี้เวลาขอเปิดบัญชีนี่มันก็จะให้ระบุด้วยว่าต้องการเปิดบัญชีแบบไหนบ้าง ซึ่งบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ประเภทต่าง ๆ (ที่เรารู้จัก) ก็จะมีดังนี้
      • บัญชีเงินสด (Cash Account)
        บัญชีประเภทนี้ ทางโบรกเกอร์จะกำหนดวงเงินสูงสุดที่เราจะซื้อหุ้นได้โดยดูจาก Statement ที่เราให้ไป แล้วก่อนซื้อหุ้น เราก็ต้องวางเงินสด (คือโอนเข้าบัญชีโบรกเกอร์ หรือส่งคำร้องออนไลน์ให้ตัดบัญชี ATS) เป็นจำนวนเงิน 20% ของวงเงินที่เราต้องการ ซึ่งต้องไม่เกินวงเงินสูงสุดที่โบรกเกอร์ให้ ตัวอย่างเช่น โบรกเกอร์ให้วงเงินสูงสุดในการซื้อขาย 500,000 บาท เรากะว่าเราจะซื้อขายอยู่ในวงเงิน 100,000 บาท เราก็จะต้องวางเงิน 20,000 บาท (20% ของ 100,000) เพื่อที่จะได้เครดิตวงเงิน 100,000 บาท

        สำหรับการจ่ายเงินเวลาที่ซื้อหุ้น (รวมทั้งการโอนเงินให้เราเวลาที่เราขายหุ้น) ก็จะเป็น T+3 หมายความว่า Due date จะเป็นอีก 3 วันทำการถัดไป (วันทำการ หมายถึง วันทำการของตลาดหลักทรัพย์) เช่น สมมติว่าว่านี้ (ศุกร์ 14 มิ.ย.) เราซื้อหุ้นไป 10,000 บาท โบรกเกอร์จะตัดบัญชี ATS ของเรา 10,000 บาทในวันพุธที่ 19 มิ.ย. (วันที่ 14,15 เป็นวันเสาร์อาทิตย์ ไม่ใช่วันทำการ ดังนั้น 3 วันทำการ คือ 17, 18, 19) และถ้าเราขายหุ้น เราก็จะได้เงินในอีก T+3 วันเช่นกัน

        ถ้าถึงเวลาตัดบัญชีแล้วไม่มีให้ตัดจะเป็นยังไง? ที่เคยรู้มาก็คือ มีค่าปรับ.. น่าจะเป็นรายวัน (ไม่เยอะ) แล้วก็ซื้อหุ้นเพิ่มไม่ได้จนกว่าจะเคลียร์ส่วนที่ค้างก่อน

        บัญชีที่ใช้อยู่เป็นหลักก็คือบัญชีประเภทนี้แหละ เพราะสะดวก ไมต้องวางเงินเต็มจำนวนที่คิดจะซื้อขาย คิดว่าโดยมากก็น่าจะใช้บัญชีประเภทนี้กัน

      • บัญชีแคชบาลานซ์ (Cash Balance Account)
        บัญชีประเภทนี้เป็นแบบ Pre-paid คือไม่มีเครดิตวงเงิน จะซื้อเท่าไรก็ต้องวางเงินไปก่อนเท่านั้น คิดจะซื้อในวงเงิน 100,000 บาท ก็ต้องโอนเงินเข้าไป 100,000 บาทเต็ม ๆ

        ถึงแม้ปรกติจะใช้บัญชีเงินสด แต่อาจจะเปิดบัญชีแคชบาลานซ์ทิ้งเอาไว้ด้วยโดยที่ยังไม่ต้องวางเงินก็ได้ ทั้งนี้ เพราะมันจะมีหุ้นที่มีสภาพการซื้อขายผิดปรกติเข้าข่ายที่ กลต. กำหนดไว้ กลายเป็นหุ้นที่ "ติดแคชบาลานซ์" คือ ให้ซื้อขายได้ผ่านบัญชีแคชบาลานซ์เท่านั้น จะซื้อขายด้วยบัญชีเงินสดที่เคลียร์เงินกันอีก 3 วันข้างหน้าไม่ได้ แต่ถ้าคิดว่าไง ๆ ก็จะไม่เล่นหุ้นที่ติดแคชบาลานซ์ จะไม่เปิดบัญชีนี้ไว้ด้วยก็ไม่เป็นไร

      • บัญชีเครดิตบาลานซ์ (Credit Balance Account)
        บัญชีนี้ก็คือประเภทที่เรียก ๆ กันว่าบัญชีมาร์จิน (Margin) ที่พูด ๆ กันว่ากู้มาร์จินมาเล่นหุ้น มันคือบัญชีที่ให้เรากู้เงินโบรกเกอร์มาเล่นหุ้นได้ (มีดอกเบี้ยนะ) โดยใช้เงินสดหรือหุ้นเป็นหลักประกัน ซึ่งมันจะมีหลักเกณฑ์อื่น ๆ ยิบย่อยในการกู้อีก เป็นต้นว่า หุ้นอะไรบ้างที่ใช้มาร์จินได้ และใช้ได้กี่เปอร์เซ็นต์ หรือ ถ้าราคาหุ้นที่ถืออยู่ตกมาก ๆ จนเกินอัตราที่กำหนด ก็จะต้องวางเงินประกันเพิ่ม ถ้าไม่มีเงิน ก็จะโดนบังคับขายหุ้นที่มี (ที่เรียก ๆ กันว่า Forced Sell) อันนี้ต้องถามพวกเล่นเก็งกำไรใจถึง ถ้าอยากรู้รายละเอียด เพราะไม่เคยเปิดบัญชีนี้ไว้เหมือนกันและไม่คิดจะทำ.... มันเสี่ยงมาก ไม่กล้าพอ
      (ข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีประเภทต่าง ๆ อาศัยข้อมูลประกอบจาก http://www.set.or.th/onlineinvestor/Online_Trading_guidebook_s.pdf)

      (มือใหม่) ควรรู้อะไรบ้าง ?

      หลังจากรู้แล้วว่าจะเปิดบัญชียังไง ทีนี้มาพูดถึงว่า อะไรยิบย่อยที่ควรจะรู้บ้าง... (ส่วนมากสำหรับมือใหม่)  บางอย่างมันก็มาจากประสบการณ์ตัวเองแหละ -_-" (อาจจะไม่ตรงกับสิ่งที่คนอื่น ๆ เคยเจอมาบ้างก็ได้)
      • โบรกเกอร์แต่ละรายให้บริการเหมือนหรือต่างกันอย่างไร ?
        • เปอร์เซ็นต์ค่าคอมมิชชันสำหรับการซื้อขายแต่ละประเภท (ออนไลน์ - บัญชีเงินสด, ออนไลน์ - บัญชีแคชบาลานซ์ หรือผ่านมาร์เก็ตติ้ง) เท่ากันทุกเจ้า
        • บทวิเคราะห์บนเวบไซต์ของโบรกเกอร์ บางรายก็ให้คนทั่วไปเข้าไปดูได้ บางรายต้องเปิดบัญชีซื้อขายจึงจะมีรหัสผ่านเข้าไปดูได้ และแต่ละโบรกเกอร์ก็จะมีบทวิเคราะห์สำหรับหุ้นบางส่วนในตลาดเท่านั้น ไม่ใช่ทุกตัว

        • ในการซื้อขายออนไลน์ นอกจากโปรแกรม Streaming ของ Settrade ที่เป็นโปรแกรมพื้นฐานแล้ว แต่ละโบรกเกอร์อาจจะมีโปรแกรมซื้อขายที่พัฒนาขึ้นเอง ซึ่งก็จะมีจุดเด่นต่างกันไป นอกจากนี้ โบรกเกอร์ก็อาจจะมี Access โปรแกรมเสริมที่ให้ข้อมูลต่าง ๆ ให้ โดยแต่ละรายก็อาจให้โปรแกรมที่ต่างกัน (ซึ่งปรกติถ้าเราจะใช้เอง ไม่ได้มี Access จากโบรกเกอร์ เราต้องเสียเงินสมัคร)

      • ถึงแม้ว่าทุกโบรกเกอร์คิดค่าเปอร์เซ็นต์คอมมิชชันเท่ากัน แต่ส่วนมากก็จะมีกำหนดขั้นต่ำต่อวัน  เช่น บางเจ้าอาจจะบอกว่ามูลค่าซื้อขายขั้นต่ำต่อวัน 20,000 บาท ก็หมายถึงว่าถ้าวันไหนเรามีรายการซื้อขาย แต่ไม่ถึง 20,000 บาท เราก็ต้องจ่ายค่าคอมมิชชันเท่ากับซื้อขาย 20,000 บาทอยู่ดี อย่างไรก็ตาม ก็จะมีโบรกเกอร์บางรายที่ไม่กำหนดขั้นต่ำ ซึ่งสำหรับคนที่เงินเยอะ ซื้อขายแต่ละ Lot หลายหมื่น จะมีหรือไม่มีขั้นต่ำก็ไม่ใช่ปัญหา แต่มือใหม่ที่พอร์ตเล็กเงินไม่เยอะหรือยังไม่อยากลงเงินมาก วันไหนซื้อขายก็ไม่กี่ตังค์ เคาะซื้อทีนึงก็น่ารัก ๆ รายการละ 5,000 บาท อะไรอย่างนี้ การไม่มีค่าคอมมิชชันขั้นต่ำก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะไม่งั้นต้นทุนค่าคอมมันจะสูง หรือไม่ก็จะต้องมีความกดดันเพิ่มจากการที่ต้องพยายามทำรายการให้ถึงขั้นต่ำในวันที่จะซื้อจะขาย

      • ไม่ว่าจะใช้บัญชีประเภทไหน ก็ต้องโอนเงินก่อนถึงจะทำรายการได้ ไม่งั้นส่งคำสั่งไปมันก็ Cancelled อยูดี (ข้อนี้สำคัญ ถ้าจะซื้อขาย ก็ควรวางเงินก่อนล่วงหน้า เพราะหลังจากโอนเข้าไปแล้วนี่ทางโบรกเกอร์ก็ต้องใช้เวลา process ก่อน อย่างเร็วก็อาจจะครึ่งวัน ไม่ใช่วางปุ๊บซื้อได้ปั๊บเสมอไป)

      • หลัง ๆ เห็นโปรโมชันของโบรกเกอร์แข่งกัน มีของแถมตอนเปิดบัญชี รวมทั้งมีของแถมเพิ่มอีกหากซื้อขายได้ตามยอดภายในระยะเวลาที่กำหนด จริง ๆ ของแถมคือของแถม ไม่ควรเอามาเป็นตัวตั้งในการเลือกโบรกเกอร์ รวมถึงการเริ่มซื้อขาย ควรจะเริ่มซื้อขายในจังหวะที่ควรซื้อมากกว่าซื้อขายเพราะอยู่ในช่วงเวลาที่จะได้ของแถม เพราะถ้าขาดทุนเนื่องจากจังหวะซื้อขายไม่ดี มันจะไม่คุ้มเลย เพราะของแถมมูลค่าไม่ได้มากอะไร

      • สามารถเปิดบัญชีซื้อขายและซื้อขายหุ้นกับโบรกเกอร์หลายรายได้ในเวลาเดียวกัน ไม่มีปัญหาอะไร

      • รายย่อย เงินน้อย พอร์ตเล็ก อย่าหวังพึ่งมาร์เก็ตติงในเชิงข้อมูลหรือคำแนะนำมากนัก เพราะส่วนมากมาร์เก็ตติงที่ดูแลรายย่อยแบบยิบย่อย ก็มักจะค่อนข้างใหม่ ประสบการณ์ไม่เยอะ ศึกษาข้อมูลเองจะดีกว่า (มาร์เก็ตติงเราตอนซื้อขายครั้งแรก เรายังไม่วางเงิน เพราะไม่รู้ว่ามันต้องวางก่อน ส่งคำสั่งไปแล้วโดน Cancelled 2-3 คำสั่ง ต้องโทรไปถามถึงจะรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ทั้งที่ปรกติเขาจะเห็นการทำรายการของเรา และควรจะบอก ถ้ามันมีอะไรผิดปรกติ) แต่ถ้าโชคดีได้มาร์เก็ตติงโอเคก็ดีไป

      ตอนนี้คิดออกแค่นี้แหละ เอาเข้าจริงโพสต์นี้ยาวและใช้เวลามากกว่าที่คาดมาก อ่านมาจนถึงได้ก็ขอขอบคุณหลาย ๆ ค่า... ^_^

      Thursday 13 June 2013

      มือใหม่ในตลาดเลือด

      ตอนนี้หุ้นตกหนัก ๆ มาหลายวันติด ๆ กันแล้ว (ตกแข่งกับฝน) จะไม่เขียนเกี่ยวกับหุ้นตกบ้างเดี๋ยวจะไม่ทันสมัย

      ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ 1 สัปดาห์ ที่ผ่านมาเป็นอย่างกราฟข้างล่างนี้ เปิดมาเมื่อวันจันทร์ก็ถล่มกันราบทีเดียว

      ที่มา www.settrade.com



      ตอนหุ้นตกหนัก ๆ อย่างนี้มือใหม่เป็นยังไงบ้าง... ? ก็เจ็บ เจ็บตัวกันถ้วนหน้า (ทั้งมือเก่ามือใหม่) เพราะมูลค่าตลาดของของที่มีในพอร์ทมันก็ลดลงตามราคาหุ้นที่ตกนั่นแหละ T_T มันก็แอบเหนื่อยบ้างเครียดบ้างอะไรบ้าง ต้องมาสะสมกำไรกันใหม่ แล้วก็ไม่รู้ว่ามันจะตกนานแค่ไหน แต่ไม่ถึงกับ Panic จริง ๆ เวลาแบบนี้ห้าม Panic เลยแหละ ทำอะไรต้องคิดดี ๆ เลยเชียว

      แล้วทำยังไง ?

      ก็ไม่ทำยังไงเพราะจะขายก็ไม่ไหว ตกซะขนาดนี้ จะซื้อก็ไม่มีตังค์ซื้อแล้ว ช่วงนี้ก็จะเป็นช่วงเวลาของการเรียนรู้ภาคปฏิบัติ  คือ ทฤษกี ตำรา งานวิจัย หรือบทวิเคราะห์นี่ บางทีอ่าน ๆ ก็เหมือนจะเข้าใจบ้าง แต่พอเกิดเหตุการณ์แบบนี้จริง ๆ จะแจ่มแจ้งขึ้นมาเลยเชียว เป็นต้นว่า ก่อนหน้านี้ ตอนเริ่มเข้าตลาดใหม่ ๆ อ่านบทวิเคราะห์ที่พูดถึง Fund Flow ตอนนั้นอ่านแล้วก็ยังไงงง ๆ ว่ามันคืออะไร สำคัญยังไงเหรอ พอรอบนี้หุ้นตกเพราะต่างชาติเทขายเอาเงินกลับ เงินทุนไหลออกนี่ เข้าใจซาบซึ้งขึ้นมาทันทีว่า ไอ้ Fund Flow มันสำคัญยังไง (เพราะมันเล่นซะกระเทือนไปทั้งภูมิภาคเลย)

      อย่างไรก็ตาม หุ้นตกรอบนี้เราก็ไม่เหงาเหมือนรอบก่อนที่ตกอยู่ประเทศเดียว เพราะมันตกกันหมด (มันดีหรือเปล่าเนี่ย) โดยเฉพาะในเอเชียที่ฝรั่งเริ่มขายเอาเงินกลับประเทศเพราะเศรษฐกิจสหรัฐทำท่าจะฟื้น (ไม่ได้วิเคราะห์เอง อ่านมา) เราก็ตกกันระนาว ไทย อินโด ฟิลิปปินส์ โดนหนักสุด

      สิ่งที่เรียนรู้ก็มีหลาย ๆ อย่าง เช่น
      • การอ่านสภาพเศรษฐิกจในภาพรวมทั้งของโลกและของประเทศออกและคาดการณ์ได้นั้นเป็นเรื่องสำคัญ (และยาก) เพราะเวลาที่หุ้นตกเพราะสภาวะเศรษฐกิจนี่ หุ้นรายตัวถึงจะดีแค่ไหน มีข่าวดีออกมาเท่าไร ๆ โบรคเกอร์จะเชียร์ยังไง มันก็ขึ้นไม่ค่อยไหวหรอก เพราะแรงขายมันเยอะ แล้วพอคนยิ่งตกใจมันก็ยิ่งขาย ก็ยิ่งตกกันเข้าไปอีก แล้วก็การวิเคราะห์กลับไปย้อนหลัง มันก็เสียหายไปแล้วล่ะ คนที่ได้เปรียบคือคนที่คาดการณ์ได้และ take action ได้ก่อน เรียนรู้จากประสบการณ์นี่แหละ
      • กระสุนสำรอง.. หรือเงินสด เป็นสิ่งสำคัญเวลาตลาดผันผวน เพราะเวลาแบบนี้ หุ้นมันจะถูก แล้วถ้าเราซื้อเข้าไปก่อนหน้านี้จนหมด (เพราะคิดว่าถูกแล้ว และไม่คิดว่าจะถูกลงไปอีก) มันก็ได้แต่มองแหละ อารมณ์ประมาณว่า ไปช้อปเจอเสื้อถูกใจแต่ไม่มีตังค์ซื้อแล้ว อะไรอย่างนั้น ซึ่งตรงนี้มันก็เกี่ยวข้องกับการอ่านสภาวะตลาดกับการคาดการณ์ด้วยน่ะนะ ที่จะรู้ว่าช่วงไหนเราควรเตรียมเงินสดไว้บ้าง
      • การนั่งจ้องกระดานตลอดเวลา ไม่ทำให้อะไรดีชึ้น 5555 เพ่งแล้วท่องอยู่ในใจให้หุ้นขึ้นมันไม่ขึ้นหรอก เครียดเปล่า ๆ ด้วย แล้วมันอาจจะทำให้สับสนตามอารมณ์ตลาด ลงมือกระทำในสิ่งที่ไม่ได้วางแผนหรือคิดให้ดีได้ (อันนี้ทั้งขาขึ้นและขาลงก็เป็นได้หมด) ถ้าไม่ได้คิดว่าจะซื้อจะขายเนี่ย ก็รู้สึกว่าไปทำอย่างอื่น เช่น หาความรู้ อ่านหนังสือ อ่านข่าว ดีกว่า หรือถ้ายังอยากตามราคาเป็นระยะ ก็ตั้ง Alert เอา
      • ถ้าจะลงทุน ต้องทำใจว่ามันจะต้องเจอทั้งกำไรและขาดทุน และต้องอยู่กับมันให้ได้ ก็เหมือนทำธุรกิจอื่น ๆ  ที่ต้องเรียนรู้ แล้วก็พยายามแก้ปัญหาไป

      ส่วนตอนนี้ก็รอ... รอให้เป็นวันของเรา อิอิอิ

      Wednesday 12 June 2013

      การลงทุนคืออะไร ทำไมต้องลงทุน ต้องใช้เงินมากหรือเปล่า แล้วควรจะลงทุนอะไรดี

      จั่วหัวข้อวันนี้ด้วยคำถามที่น่าจะเป็นคำถามของคนที่ยังไม่เริ่มลงทุน (บางอันก็เคยเป็นคำถามของเราด้วยเหมือนกัน)


      การลงทุนคืออะไร ?

      http://www.tsi-thailand.org บอกไว้อย่างนี้

      "“การลงทุน” คือ การที่เราใช้จ่ายเงินสดรูปแบบหนึ่งในปัจจุบัน โดยมุ่งหวังจะได้รับ
      ผลตอบแทนจากการใช้จ่ายนั้นในอนาคต ซึ่งผู้ลงทุนเชื่อว่าเงินสดหรือผลตอบแทน
      ส่วนเพิ่มที่จะได้รับคืนนั้น จะสามารถชดเชยระยะเวลา อัตราเงินเฟ้อ และความเสี่ยงที่
      อาจเกิดขึ้นได้อย่างคุ้มค่า"

      จะว่าไปแล้ว เราก็ไม่เคยคิดหานิยามอย่างเป็นเรื่องเป็นราวของคำว่าการลงทุนนะ ถ้าจะให้บอกว่าการลงทุนคืออะไร (เฉพาะบริบทที่เป็นการเอาเงินไปลงทุนนะ ไม่รวมถึงแรงงานหรืออะไรอื่น) สำหรับเรา มันคือการเอาเงินไปใส่ไว้ในสินทรัพย์อะไรก็ตามที่เราเชื่อว่ามันจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น หรือให้ผลตอบแทนแก่เรา อย่างที่เรียกว่า "ให้เงินทำงานแทน" ที่เขา (เขาคือใคร ?) พูด ๆ กัน ถ้ามีเงินอยู่ 1 ล้าน เอาใส่ไหฝังดิน อีกห้าปีขุดขึ้นมา (ถ้าไม่โดนขโมยขุดไปก่อน) มันก็ยังมี 1 ล้านเหมือนเดิม แต่ถ้าเอาเงิน 1 ล้านไปซื้อที่ดิน สมมติว่าอีก 5 ปีราคาที่ดินเพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้าน เราก็จะมีเงินเพิ่มอีก 1 ล้านจากการเอาเงิน 1 ล้านแรกที่มีไปแปรเเปลี่ยนเป็นที่ดิน ผลตอบแทนที่ว่านี่ นอกจากจะอยู่ในรูปของราคาสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นแล้ว ดอกเบี้ย เงินปันผล ก็นับเป็นผลตอบแทนจากการลงทุนอีกรูปแบบหนึ่ง


      ทำไมถึงต้องลงทุน ?

      "การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจ" เป็นประโยคที่ได้ยินบ่อย ๆ จากโฆณษาอะไรต่ออะไรที่เกี่ยวกับการลงทุน (แม้ว่าบางทีคนโฆษณาจะพยายามพูดให้เร็วและเบาที่สุดก็ตาม) ในเมื่อการลงทุนมันมีความเสี่ยง คือเสี่ยงต่อการขาดทุน แล้วทำไมเราจะต้องลงทุน ทำไมไม่อยู่เฉย ๆ

      ถ้าอยู่เฉย ๆ ได้โดยไม่เสียอะไรเลยมันก็สบายดี แต่จริง ๆ แล้วอยู่เฉย ๆ ก็เสียอยู่ดี ประการแรก การไม่ลงทุนแล้วเก็บเงินไว้เฉย ๆ เราอาจจะไม่เสียเงินก็จริง แต่ยังไงก็ตาม เราก็จะสูญเสีย "มูลค่า" ของเงินที่เรามีไปเพราะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นทุกปี เรามีเงิน 100 บาทปีนี้ เก็บไว้จนปีหน้า เงิน 100 บาทปีหน้า อาจจะซื้อของได้เท่ากับเงิน 95 บาท ในปีที่ผ่านมา เพราะของแพงขึ้น ค่าของเงินลดลง แล้วปีต่อไป เงิน 100 บาทที่ว่า ก็อาจจะซื้อของได้แค่ 90 บาท เงินน่ะ 100 บาทเท่าเดิม แต่ค่าของเงิน 100 บาทมันลดลงเรื่อย ๆ แล้วเราก็จนลงไปได้เรื่อย ๆ ทั้งที่มีเงินเท่าเดิมโดยที่เราไม่ต้องทำอะไรเลย อยู่เฉย ๆ นี่แหละ (เป็นเรื่องน่าเศร้า หาเงินมาแล้วอยากอยู่เฉย ๆ เก็บไปใช้ไปก็ไม่ได้)

      ประการที่สอง การไม่ลงทุนทำให้เราเสียโอกาส โอเค ถ้าเรามีเงิน 1 ล้านแล้วใส่ไหไว้อย่างที่ยกตัวอย่างข้างต้น เงินมันก็อยู่กับเราแหละ แต่ถ้าเอาไปลงทุนที่ดิน จาก 1 ล้าน ได้เป็น 2 ล้าน การไม่ลงทุน ก็ทำให้เราเสียโอกาส โอกาสที่เสียไปก็คือ 1 ล้านบาท (ยกตัวอย่างแบบง่าย อาจไม่สมจริงก็ได้ เพราะเราไม่เคยลงทุนอสังหาริมทรัพย์) ถึงจะบอกว่าการลงทุนมีความเสี่ยงขาดทุน เพราะมันอาจจะไม่กำไรเสมอไป แต่ในทางกลับกัน มันก็ไม่ได้ขาดทุนเสมอไปด้วยเหมือนกัน อยู่ที่การจัดการความเสี่ยง การศึกษาในสิ่งที่ลงทุน มองแต่ว่าการลงทุนเสี่ยง และอาจขาดทุน มันก็เป็นการมองที่ไม่รอบพอ ๆ กับการมองแต่กำไรที่คิดว่าจะได้จากการลงทุน โดยไม่คิดถึงความเสี่ยงขาดทุนนั่นแหละ

      มาถึงตอนนี้ ก็อาจจะสงสัยได้อีกอย่างว่า ถ้างั้นการเอาเงินไปฝากธนาคารก็เป็นการลงทุนสิ เพราะได้ดอกเบี้ยเงินฝาก มันก็ใช่แหละ คือเราฝากเงิน ธนาคารก็เอาเงินไปปล่อยกู้ต่อ (ด้วยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่จ่ายให้เรา) แต่เวลาเราฝากนี่เราก็ไม่ได้มองกันอย่างนั้น เราก็มองว่ามันเป็นที่เก็บเงินที่ปลอดภัย เงินต้นไม่หาย (จริง ๆ มันก็มีโอกาสเสีย แต่น้อยมาก) แล้วก็ได้ดอกเบี้ยด้วย แต่จริง ๆ ผลตอบแทนมันก็ค่อนข้างน้อย (อย่าลืมว่า High Risk, High Return การลงทุนที่แทบจะไม่มีโอกาสเสียเงินต้น ผลตอบแทนมันก็คงไม่เยอะ) เปอร์เซ็นต์ดอกเบี้ยเงินฝากต่อปีมันน้อยกว่าอัตราเงินเฟ้อแต่ละปี สรุปว่าฝากเงินได้ดอกเบี้ย ก็สู้อัตราเงินเฟ้อไม่ได้อยู่ดี



      ต้องใช้เงินมากหรือเปล่า ?


      อันนี้ไม่ได้พูดถึงประเด็นที่ว่า แบ่งเงินมาลงทุนเท่าไรของสัดส่วนเงินที่มีนะ อันนั้นแล้วแต่คนเพราะความจำเป็นมันต่างกัน แต่จะพูดถึงกว่า "กี่บาท" นี่แหละ เพราะบางคนพอพูดถึงคำว่าลงทุน ก็จะคิดว่าต้องใช้เงินก้อน แล้วก็เลยคิดว่าตัวเองยังไม่สามารถลงทุนได้เพราะมีเงินไม่เยอะ

      เราจะไม่พูดถึงอะไรที่ใช้เงินก้อนจริง ๆ อย่างพวกลงทุนที่ดินอะไรพวกนั้น เพราะมันก็มีการลงทุนที่ใช้เงินน้อยกว่านั้นมาก เช่น การลงทุนในกองทุนมันจะมีขั้นต่ำในการซื้อขายหน่วยลงทุนซึ่งมันไม่ได้เยอะอะไร มีตั้งแต่ขั้นต่ำ 1,000 บาท หรือ 2,000 บาท หรือบางกองก็ 10,000 บาท เพราะฉะนั้นไม่ต้องมีเงินเป็นแสนเป็นล้านก็ลงทุนได้ แม้แต่หุ้น มีสัก 50,000 ก็พอจะซื้อได้อยู่เหมือนกัน

      ดังนั้น ถ้าคิดจะลงทุน มีเงินที่จะลงทุนหลักพัน ก็ลงทุนได้แล้ว



      ควรจะลงทุนอะไรดี ?


      ไม่มีคำตอบสำเร็จรูปที่เหมาะกับทุกคน แต่ควรจะลงทุนในสิ่งที่ตัวเองสนใจและมีความรู้ดี (ถ้าไม่มีความรู้อะไรสักอยาง ก็ต้องศึกษาหาความรู้) ความเสี่ยงจากการลงทุนจะเพิ่มขึ้นมากถ้าลงทุนในสิ่งที่ไม่มีความรู้ เช่น ซื้อหุ้นตามคนอื่น เพราะเห็นคนอื่นซื้อแล้วหุ้นมันขึ้น ได้กำไรเยอะ แต่ไม่รู้ว่าทำไมหุ้นนั้นมันถึงขึ้น แล้วก็ไม่รู้ว่ามันขึ้นมาเท่าไรแล้ว (พอซื้อแล้วมันเป็นช่วงลงพอดีก็ติดดอย อะไรงี้) วิธีหาเงินมันมีหลายแบบ ก็เลือกที่ถนัด และให้ผลตอบแทนคุ้มค่า (ถ้าทำแล้วได้กำไรระยะยาวน้อยกว่าฝากเงินธนาคาร อันนี้ก็ควรปรับปรุงหรือเปลี่ยนวิธี) บางคนก็ถนัดทำธุรกิจเอง บางคนถนัดดูที่ดิน ซื้อมาขายไป บางคนถนัดลงทุนอสังหาริมทรัพย์ให้คนอื่นเช่า แล้วกินค่าเช่า บางคนถนัดเก็งกำไรหุ้น บางคนถนัดลงทุนระยะยาว บางคนก็ฝากกองทุนลงทุนให้ หรือบางคนก็ลงทุนหลาย ๆ อย่าง ก็ว่ากันไป แล้วแต่คน เลือกให้เหมาะสมกับตัวเอง กับความสนใจ ความรู้ และเงินที่มี

      Tuesday 11 June 2013

      มารู้จักกองทุนรวมกันเถอะ

      กองทุนรวมคืออะไร ?

      จาก www.thaimutualfund.com บอกว่า กองทุนรวมคือ

      "...เครื่องมือในการลงทุน (investment vehicle) สำหรับผู้ลงทุนรายย่อย ที่ประสงค์จะนำเงินมาลงทุนในตลาดเงินตลาดทุน แต่ติดขัดด้วยอุปสรรคหลายประการ ที่ทำให้การลงทุนด้วยตนเองไม่สามารถได้ผลลัพธ์ตามเป้าหมายที่ต้องการ..."เช่น
      • มีทุนทรัพย์จำนวนจำกัด ไม่สามารถกระจายการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเภทได้มากพอ เพื่อลดความเสี่ยงจากการลงทุน หรือ
      • ไม่มีประสบการณ์ ความรู้ ความชำนาญในการลงทุน หรือ
      • ไม่มีเวลาจะศึกษา ค้นหา และติดตามข้อมูลเพื่อใช้ในการตัดสินใจการลงทุน
      กองทุนรวม จึงเป็นเครื่องมือในการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ มีการจัดการลงทุนอย่างเป็นระบบ โดยมีจุดมุ่งหมายให้การลงทุนได้รับผลตอบแทนที่ดีสุด ภายใต้กรอบความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนยอมรับได้...".
      โดยสรุป มันก็คือ เครื่องมือสำหรับเราซึ่งเป็นผู้ลงทุนรายย่อย ที่อยากลงทุนในตลาดเงินตลาดทุน แต่ไม่สามารถหรือไม่อยากจะลงทุนด้วยตัวเองโดยตรง สามารถจะลงทุนในสิ่งที่เราอยากลงทุนได้โดยการจ้างมืออาชีพให้ช่วยเอาเงินเราไปลงทุนให้

      การ "จ้าง" มืออาชีพ ซึ่งในที่นี้ก็คือ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ให้ลงทุนให้เรา ก็ทำได้โดยการซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนจาก บลจ.ในจำนวนเงินที่เราต้องการลงทุน ผู้บริหารจัดการกองทุนกองทุนที่เราซื้อก็จะเอาเงินที่เราซื้อหน่วยลงทุนไปลงทุนให้ เช่น ถ้าอยากลงทุนตลาดหุ้น ก็ซื้อกองทุนหุ้น กองทุนก็จะเอาเงินที่คนนำมาซื้อหน่วยลงทุนไปลงทุนในหุ้น โดยเก็บ "ค่าจ้าง" คือ ค่าธรรมเนียม และค่าบริหารจัดการในอัตราที่กำหนด ซึ่งก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละกองทุน

      กองทุนรวมแบ่งได้หลายประเภทตามนโยบายการลงทุน หลัก ๆ ก็แบ่งตามสิ่งที่ไปลงทุนนั่นแหละ เช่น กองทุนตราสารหนี้ กองทุนหุ้น กองทุนแบบผสม กองทุนทองคำ ซึ่งแต่ละแบบก็อาจจะมีรายละเอียดปลีกย่อยออกไปอีก เช่น กองทุนที่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล และกองทุนที่ไม่จ่ายเงินปันผล กองทุนที่กำหนดระยะเวลาการลงทุน เช่น กำหนดช่วงซื้อขาย หากอยู่นอกช่วงที่ซื้อขายจะไม่สามารถซื้อขายได้ บางกองก็มีเป้าหมายเจาะจง เช่น พวก Trigger fund หรือกองทุนที่ให้ผลประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีด้วย เช่น LTF RMF หรือบางกองก็เอาไปลงทุนต่างประเทศ ซึ่งรายละเอียดนโยบายการลงทุน และเงื่อนไขต่าง ๆ ของกองทุนก็จะระบุเอาไว้ในเอกสารชี้ชวนของแต่ละกองทุน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราควรจะศึกษาก่อนจะตัดสินใจลงทุน เพราะไหน ๆ จะจ้างคนอื่นให้เอาเงินเราลงทุนให้ทั้งที อย่างน้อย ๆ ก็ควรจะรู้สักหน่อยว่า เขาจะเอาเงินเราไปทำอะไรบ้าง เสี่ยงมากเสี่ยงน้อย เรารับได้มั้ย มีข้อกำหนดอะไรในการลงทุนบ้าง จะขายเอาเงินคืนได้ตลอดเวลาหรือเปล่า อะไรแบบนี้ จะได้ได้กองทุนที่เหมาะกับเงื่อนไขการลงทุนของเรา

      อนึ่ง ถึงแม้จะบอกว่า กองทุนรวมเหมาะแก่ผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ หรือไม่มีเวลาศึกษาติดตามข้อมูลเพื่อลงทุน แต่อย่างน้อย ๆ เราควรจะศึกษาในสิ่งที่เราต้องการลงทุนผ่านกองทุนบ้าง เพื่อให้สามารถเลือกกองทุน หรือคาดการณ์แนวโน้มของกองทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนั้น ๆ ได้ดีขึ้น จากประสบการณ์ตัวเอง เราเข้าใจกองทุนหุ้นมากขึ้นกว่าเดิมมากก็ตอนที่ลงทุนหุ้นเองนี่แหละ

      สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลกองทุนต่าง ๆ ทั่วไป เวบไซต์ http://www.morningstarthailand.com/th/ ของ Morningstar Thanland  จะมีข้อมูลกองทุนต่าง ๆ ค่อนข้างครบถ้วน สามารถดูอันดับผลการดำเนินงานของกองทุนในช่วงระยะเวลาต่าง ๆ ได้ เปรียบเทียบกองทุนได้ ทำพอร์ตโฟลิโอจำลองได้ อาจจะดูซับซ้อนหน่อย แต่ข้อมูลครบถ้วน และช่วยให้เปรียบเทียบกองทุนได้ง่ายขึ้น ส่วนรายละเอียดยิบย่อยของแต่ละกองทุนนั้น เข้าไปดูได้ที่เวบไซต์ของ บลจ. ที่ขายกองทุนนั้น ๆ

      หัวดอกทิวลิปกับการเก็งกำไร

      เปลี่ยนบรรยากาศจากสาระ (ที่ไม่ค่อยมี) มาเป็นเรื่องเล่าที่น่าสนใจบ้างดีกว่า

      เมื่อวันก่อนไปยืมหนังสือมาจากห้องสมุดมารวย เล่มนี้คนที่สนใจการลงทุนอาจจะรู้จักชื่ออยู่บ้าง คือ A Random Walk Down Wall Street ของ Burton G.Malkiel เคยยืมมารอบหนึ่งแล้วแต่ยังอ่านไม่จบเพราะหนังสือหนามากและเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งในเรื่องที่ไม่ถนัดหรือไม่มีพื้นฐานนี่ก็ต้องใช้เวลาอยู่เหมือนกัน

      ยังอ่านไปไม่ถึงไหนสักเท่าไร แต่จะเก็บความเรื่องที่รู้สึกว่าน่าสนใจจากที่อ่านมาแล้วมาเล่า

      ในหนังสือเล่มนี้ช่วงแรกก็จะว่าด้วยหุ้นกับมูลค่าของหุ้น และเล่าถึงเหตุการณ์เกี่ยวกับการเก็งกำไรในสมัยก่อน หนึ่งในนั้นก็คือเรื่องของ "ความคลั่งไคล้หัวดอกทิวลิป"

      ในการลงทุนต่าง ๆ สิ่งลงทุนต้องการคือกำไร และอะไรก็ตามที่ดูแล้วมันให้ผลตอบแทนดี มีคนได้กำไรเยอะ มันก็ทำให้มีคนเก็งกำไร ในยุคนี้อาจจะเป็น หุ้น ที่ดิน แต่ในสมัยก่อนนั้น หัวดอกทิวลิป ก็กลายเป็นสิ่งที่เก็งกำไรจนกลายเป็นฟองสบู่ได้เหมือนกัน...

      เมื่อคนคลั่งไคล้และโลภจนมองไม่เห็นอะไรนอกจากกำไร

      เรื่องนี้เกิดขึ้นในฮอลแลนด์ ดินแดนดอกทิวลิป ในช่วงศตวรรษที่ 17

      เหตุการณ์ที่นำไปสู่การเก็งกำไรหัวดอกทิวลิปอย่างบ้าคลั่งนี้เริ่มต้นในปี 1593 เมื่อศาตราจารย์ทางพฤกษศาสตร์จากเวียนนาคนหนึ่ง นำพืชแปลก ๆ จากตุรกีเข้ามายังไลเดน (เมืองหนึ่งในฮอลแลนด์) ชาวดัตช์ทั้งหลายก็ใฝ่ฝันอยากได้พืชแปลก ๆ พวกนี้ไปปลูกในสวนของตัวเองบ้าง แต่ไม่อยากซื้อในราคาที่ศาตราจารย์ตั้งไว้ (ศาสตราจารย์ก็อยากได้กำไรงาม ๆ เหมือนกัน) ดังนั้น ในคืนหนึ่ง ก็มีหัวขโมยเข้าไปขโมยหัวพืชที่ว่านี่มา แล้วนำมาขายต่อในราคาที่ต่ำกว่าที่ศาตราจารย์ตั้งเอาไว้ แต่ได้กำไรมากกว่า (ก็มันขโมยมา...)

      ราว ๆ อีกหนึ่งทศวรรษหลังจากนั้น ไอ้เจ้าพืชที่ว่า ซึ่งก็คือทิวลิปนี่แหละ ก็ได้รับความนิยมในหมู่ชาวดัตช์ (เอาไปปลูกในสวน) แต่ก็เป็นของที่มีราคาแพง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกที่มีสีสันแปลก ๆ อันเกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Mosaic จะได้รับความนิยมมาก ยิ่งแปลกก็ยิ่งแพง ความคลั่งไคล้ในดอกทิวลิปก็ค่อย ๆ ก่อตัวขึั้น ช่วงแรก ๆ พวกพ่อค้าก็เพียงแต่พยายามจะคาดการณ์ว่าสไตล์ไหนจะเป็นที่นิยมในปีต่อไป (เหมือนแฟชันเสื้อผ้า)  แล้วก็สต็อกหัวดอกทิวลิปสไตล์ที่ว่าเอาไว้เยอะเป็นพิเศษโดยหวังทำกำไรจากราคาที่จะสูงขึ้น ราคาหัวดอกทิวลิปก็เลยขึ้นอย่างรวดเร็วมาก ยิ่งหัวดอกทิวลิปแพงขึ้นคนที่เห็นว่าการลงทุนในหัวดอกทิวลิปเป็นการลงทุนที่ชาญฉลาดก็ยิ่งเพิ่มขึ้น ใคร ๆ ไม่ว่าชนชั้นไหน อาชีพไหนก็พูดกันถึงแต่เรื่องดอกทิวลิป แล้วก็คิดว่าความคลั่งไคล้ในดอกทิวลิปนี้จะคงอยู่ไปตลอดชัวกาลนาน คนที่ไม่คิดว่าราคามันจะขึ้นไปได้อีกก็ได้แต่มองเพื่อนฝูงญาติโยมทำกำไรมหาศาลจากดอกทิวลิปจนทนความเย้ายวนของกำไรไม่ไหว (และแน่นอนว่าคงโดดเข้าไปเล่นด้วย) ในปีหลัง ๆ ของช่วงบ้าทิวลิป (ประมาณ 1634 ถึงช่วงต้นของ 1637) ผู้คนถึงกับเอาทรัพย์สินของตัวเอง ทั้งที่ดิน เครื่องเพชร เฟอร์นิเจอร์ ไปแลกเปลี่ยน (barter) เพื่อให้ได้เป็นเจ้าของหัวดอกทิวลิป ราคาของหัวดอกทิวลิปเพิ่มขึ้นสูงลิ่ว

      ยิ่งการเก็งกำรไรเพิ่มขึ้น ก็ทำให้มีคนสร้างเครื่องมีมีรองรับความต้องการเก็งกำไรของคน (เหมือนกับในตลาดหุ้นสมัยนี้) เครื่องมือที่ว่าเรียกว่า "call options" ซึ่งก็คือการทีเจ้าของ option ได้สิทธิ์ที่จะซื้อหัวดอกทิวลิปในราคาตายตัว (ซึ่งมักอิงจะเป็นราคาตลาดในขณะนั้น) ในช่วงเวลาที่กำหนด ผู้ซืั้อจะต้องจ่ายค่า option premium ประมาณ 15-20% ของราคาตลาด ตัวอย่าง เช่น ถ้าดอกทิวลิปราคาตลาดอยู่ที่ 100 กิลเดอร์ ผู้ซื้อ option ของดอกทิวลิปที่ว่าจะจ่ายเงินเพียงแค่ประมาณ 20 กิลเดอร์ และเมื่อราคาขึ้นไปถึง 200 กิลเดอร์ ผู้ถือ option ก็จะใช้สิทธิ์ โดยการซื้อทิวลิปในราคา 100 กิลเดอร์ (ราคาตลาดตอนที่ซื้อ option) และขายทันทีที่ 200 กิลเดอร์ (ราคาตลาดตอนขาย) ก็จะได้กำไร 80 กิลเดอร์ (กำไรจากส่วนต่างของราคา 200-100 = 100 กิลเดอร์ ลบด้วยค่า option ที่จ่ายไป 20 กิลเดอร์) คิดเป็นกำไรถึง 4 เท่าตัว คือ จ่าย 20 ได้มา 80 ในขณะที่ถ้าซื้อขายปรกติ ก็ได้กำไรแค่ 2 เท่า คือจ่าย 100 ได้ 200 วิธีนี้เพิ่มทั้งกำไร และความเสี่ยง (คิดเลขไม่เก่ง แต่ลองสมมติว่า ถ้าราคาขายถูกกว่าราคาซื้อ ก็พบว่าจะขาดทุนมากกว่าซื้อขายปรกติเช่นกัน) แล้วก็ยิ่งทำให้มีคนเข้ามาเก็งกำไรมากขึ้นไปอีก

      หลังจากที่ราคาดอกทิวลิปเพิ่มขึ้นอีก 20 เท่าในเดือนมกราคม 1637 ฟองสบู่ก็แตก และราคาก็ร่วงลงมากกว่านั้นในเดือนถัดมา ด้วยเหตุผลเดียวกับการเก็งกำไรอื่น ๆ คือ เมื่อราคามันขึั้นไปสูงมาก ๆ คนจำนวนหนึ่งก็เริ่มรู้สึกว่าขายเอากำไรน่าจะดีกว่า แล้วก็มีคนทำตามเรื่อย ๆ ราคาหัวดอกทิวลิปตกลงมาอย่างรวดเร็วจนคนแตกตื่น แม้ว่าทางรัฐบาลจะพยายามประกาศอย่างเป็นทางการว่า ไม่มีเหตุอะไรที่จะทำให้ราคาดอกทิวลิปตก แต่ก็ไม่มีใครฟัง ราคาก็ตกลงไปเรื่อย ๆ จนในทุ่สุดก็แทบไม่มีค่า เหลือราคาซื้อขายเท่า ๆ กับราคาหัวหอมธรรมดา ๆ เท่านั้น

      ตอนที่เขียนถึงเรื่องที่ราคาตกนี้ ผู้เขียนได้ให้ความเห็นว่า ราคาหัวดอกทิวลิปที่สูงแพง ๆ นั้น แม้จะไม่ได้แพงโดยไร้เหตุผลเสียทั้งหมด เพราะหัวดอกทิวลิปบางชนิดซึ่งหายากและสวยงามจริง ๆ นั้น ก็แพงมาตั้งแต่ก่อนจะเกิดฟองสบู่ดอกทิวลิป แล้วก็ยังคงแพงต่อไปหลังจากฟองสบู่แตก (แต่แน่นอนว่าราคามันเทียบไม่ได้กับช่วงที่คนบ้าดอกทิวลิปกัน) แต่การที่ราคาดอกทิวลิปขึ้นไปรวดเดียว 20 เท่า แล้วร่วงลงมามากกว่านั้นในเดือนถัดมานั้นก็ไม่มีเหตุผลอะไร (ทางพื้นฐานของดอกทิวลิป) มารองรับ มันร่วงเพราะคนได้กำไรเยอะแล้วก็เลยขาย ขายมาก ๆ ราคาก็ตก


      ที่อ่านแล้วรู้สึกว่าเรื่องนี้น่าสนใจก็เพราะว่า มันแสดงให้เห็นว่าอะไรก็ตาม ยุคไหนก็ตาม ถ้าเกิดการเก็งกำไรขึ้นมา เมื่อคนโลภจนลืมกลัว ก็จะทำให้ราคาของอะไรสักอย่างมันขึ้นไปได้อย่างไม่สมเหตุสมผลเพราะคนซื้อโดยคาดหวังจะขายต่อให้แพงกว่าเดิม แต่ในที่สุด เมื่อราคามันสูงเกินไปมันก็จะปรับกลับลงมาตามที่ควรจะเป็นอยู่ดี ไม่ว่าจะเป็นหัวทิวลิปในสมัยก่อน หรือที่ดิน หรือหุ้นในยุคต่อ ๆ มา แค่เปลี่ยนของประกอบฉาก แต่ตัวละคร ความโลภ และความกลัวยังเหมือนเดิม


      เรื่องราวเหตุการณ์ความคลั่งไคล้ดอกทิวลิป เก็บความจาก A Random Walk Down Wall Street โดย Burton G.Malkiel ใน Part 2 หัวข้อ The Tulip-Bulb Craze

      Monday 10 June 2013

      ธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน และบริษัทหลักทรัพย์ กับความสับสนของมือใหม่

      จากการคุยกับเพื่อนฝูงรอบตัวเกี่ยวกับกองทุน พบว่าความสับสนร่วมกันของหลาย ๆ คนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการลงทุนเลยอย่างหนึ่งก็คือ เข้าใจว่าการซื้อหน่วยลงทุนกองทุนนั้นจะต้องไปซื้อที่ธนาคาร และเป็นการซื้อจากธนาคาร ซึ่งจริง ๆ มันก็ชวนงง (และเราเองก็เคยงงเหมือนกัน) เพราะบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนเจ้าที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารใดธนาคารหนึ่งนั้น ทั้งชื่อและตรามันก็คล้าย ๆ ธนาคารนั่นแหละ

      เอามาอธิบาย โดยรวมถึงบริษัทหลักทรัพย์ (ซึ่งก็ชวนงงในลักษณะเดียวกัน) เสียเลย

      อันว่าธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (ต่อไปนี้จะขอเรียกด้วยตัวย่อว่า บลจ.) และ บริษัทหลักทรัพย์ (เรียกด้วยตัวย่อว่า บล.) นั้น เป็น 3 ธุรกิจ ที่ให้บริการต่าง ๆ กัน ซึ่งจะขอพูดถึงเฉพาะบริการที่ใช้งานกันทั่วไป ไม่รวมถึงบริการเฉพาะเจาะจงที่เราไม่รู้จัก (ขี้เกียจหาข้อมูลเพิ่มน่ะ เอาเท่าที่ใช้พอ)


      • ธนาคาร (Bank) - ธนาคารให้บริการธุรกรรมต่าง ๆ ที่เราคุ้นเคยกันดีก็คือ การฝากเงิน การถอนเงิน แล้วก็การกู้ยืมเงิน อาจมีบริการอื่น ๆ อีก เช่น แลกเปลี่ยนเงินตรา รวมทั้งเป็นช่องทางบริการขายหน่วยลงทุนให้ บลจ.ที่เป็นบริษัทลูก (หรือ บลจ.อื่น ๆ ด้วย) ดังนั้น การซื้อกองทุนก็ซื้อที่ธนาคารได้ แต่ก็แล้วแต่ว่าธนาคารไหนขายให้ บลจ.ไหนบ้าง (ส่วนมากก็เน้นขายลูกตัวเองนะคะ) และกองทุนที่เราซื้อไม่ใช่ของธนาคาร แต่เป็นของ บลจ.นะเจ้าคะ รายได้ของธนาคารก็จะมาจากดอกเบี้ยเงินกู้ ค่าธรรมเนียม และอื่น ๆ (แปลว่าเราไม่รู้นั่นเอง รู้แต่ว่าอาจจะมี) ตัวอย่างธนาคารที่รู้จักกันดีก็มี ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนคารธนชาต ธนาคารเกียรตินาคิน เป็นต้น
      • บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (Asset Management/Fund) - บลจ. ก็จะขายกองทุนรวมต่าง ๆ ให้กับผู้สนใจจะลงทุน เช่น กองทุนหุ้น กองทุนตราสารหนี้ และอื่น ๆ รวมทั้งบริการเกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ นอกจากนี้ยังมีบริการกองทุนส่วนบุคคล (ไม่เคยใช้บริการ ไม่รู้รายละเอียดเหมือนกัน) รายได้ของ บลจ. ก็มาจากอะไรต่อมิอะไรในการให้บริการกองทุนนี่แหละ เช่น ค่าบริหารจัดการกองทุน ค่าธรรมเนียม บลจ.ก็มีทั้ง บลจ.ที่เป็นบริษัทลูกของธนาคาร เช่น บลจ.บัวหลวง บลจ.กรุงศรี บลจ.ธนชาต (ดูจากชื่อคงไม่ต้องบอกว่าใครลูกใคร) และ บลจ. ที่ไม่ได้เป็นบริษัทลูกของธนาคาร เช่น บลจ.ไอเอ็นจี (แต่ตอนนีขายให้บลจ.ยูโอบีไปแล้ว ก็เป็นลูกธนาคารยูโอบีไป) บลจ.วรรณ บลจ.อเบอร์ดีน เป็นต้น
      • บริษัทหลักทรัพย์ (Securities) - พวก บล. ก็คือที่เรียก ๆ กันว่าโบรกเกอร์นั่นเอง บริการหลัก ๆ ก็คือให้บริการซื้อขายหุ้น อนุพันธ์ ตราสารหนี้ และอื่น ๆ เห็นหลาย ๆ เจ้าก็ขายหน่วยลงทุนให้ บลจ.ต่าง ๆ ด้วย สำหรับการบริการซื้อขายหุ้น บล.ก็จะมีรายได้จากค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เวลาที่ลูกค้าซื้อขายหุ้น อนุพันธ์ และอื่น ๆ แล้วก็มีบริการอื่น ๆ อีก (ลองไปดูในเวบโบรกเกอร์แต่ละเจ้าก็ได้) บล.ก็มีทั้งที่เป็นบริษัทลูกของธนาคาร เช่น บล.บัวหลวง บล.กรุงศรี บล.ธนชาต และที่ไม่ได้เป็นบรษัทลูกของธนาคารเช่น บล.เอเชียพลัส เป็นต้น (บางอันเราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าลูกใครหรือเปล่า)
      ความรู้เรามีเท่าหางอึ่ง ก็อธิบายได้แค่หางอึ่งนี่แหละ ถ้าจะพยายามอธิบายตัวอึ่ง หัวอึ่ง ที่เราไม่รู้นี่ เดี๋ยวมันจะเพี้ยนเป็นตัวอะไรประหลาด ๆ เปล่า ๆ (แค่นี้ก็อาจจะมีเพี้ยนแล้วมั้ง)

      โดยสรุปสั้น ๆ เอาเท่าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ก็คือ ถ้าจะฝากเงินหรือกู้เงินให้ติดต่อธนาคาร ถ้าสนใจจะซื้อกองทุนติดต่อ บลจ. ส่วนถ้าสนใจจะซื้อขายหุ้น (และตราสารอื่น ๆ) ให้ติดต่อ บล. ... จบข่าว

      มือใหม่ทำอะไร (มาแล้ว) บ้าง

      ตั้งแต่ต้นปี 2013 ที่ผ่านมา เราก็ลองออกมาทำอาชีพที่คนเรียกกันว่า "นักลงทุน" อย่างเต็มตัว

      แต่ด้วยความที่ยังเป็นมือใหม่มาก จะบอกว่าตัวเองเป็นนักลงทุน หรือ Investor ก็กระดาก ดังนั้นตอนนี้เวลากรอกช่อง Occupation ในที่ต่าง ๆ บนเนท จะกรอกว่าเป็น Novice Investor คือเป็นนักลงทุนฝึกหัด ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่าอีกนานเท่าไรถึงจะเอาคำว่า Novice ออก เพราะยิ่งทำ ก็ยิ่งรู้สึกว่ามีอะไรให้เรียนให้รู้อีกเยอะมาก

      ที่ผ่านมาเราก็ทำอะไรต่อมิอะไรตามที่มนุษย์ชนชั้นกลางส่วนมากในประเทศนี้ทำกัน คือเรียนหนังสือตั้งแต่อนุบาล ประถม มัธยม ไปจนจบมหาวิทยาลัย แล้วก็ไปเป็นมนุษย์เงินเดือน หลังจากนั้นก็เรียนโท แล้วก็ทำงาน แต่งานที่ทำตอนหลังจบโทนั้นเป็นงานสัญญาจ้างชั่วคราว พอหมดสัญญาก็ไม่ต่อสัญญา แล้วก็ลองมาเป็นนักลงทุนดู คิดว่าถ้ารอด เลี้ยงตัวได้ ก็จะทำไปเรื่อย แต่ถ้าเห็นทีจะไม่ไหว หมดเนื้อหมดตัว ก็คงจะไปหางานทำเป็นมนุษย์เงินเดือนต่อไป

      เหตุผลที่ทำให้หันมาทดลองชีวิตแบบนี้ ก็มีหลาย ๆ อย่างมารวม ๆ กันแบบพอดีจังหวะและเวลา

      ก่อนหน้านี้เรากับการลงทุนนั้นถือว่าแปลกหน้าต่อกันมาก ก็เหมือนมนูษย์เงินเดือนหลาย ๆ คน คือทำงาน ได้เงินเดือนก็ใช้ ที่ไม่ใช้ก็นอนอยู่ในบัญชีเงินเดือน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็สมัครเพราะบริษัทมีให้สมัคร มีให้เลือกแบบลงหุ้นไม่ลงหุ้น ก็เลือกแบบลงหุ้นไปโดยที่ไม่รู้หรอกว่ามันคืออะไร รู้แต่ว่าฟังดูน่าตื่นเต้นกว่าแบบปรกติ (เป็นเหตุผลที่ดีมากกกก)

      ต้องอธิบายหน่อยว่าเราจบตรีศิลปศาสตร์เอกภาษาอังกฤษมา ความรู้ทางการเงิน เศรษฐศาสตร์ บัญชี แทบจะเป็นศูนย์ ส่วนตอนเรียนโทก็เรียน IT Management ความสนใจเรื่องการเงิน เศรษฐกิจ อะไรพวกนี้แทบไม่มี

      มิไยพ่อเรา ซึ่งหลังเกษียณก็เริ่มลงทุนและพบว่ามันเป็นสิ่งที่ทำเป็นอาชีพได้จะพยายามแนะนำให้เราทำความรู้จักคุ้นเคยกับการลงทุน ไม่ให้แปลกหน้าต่อกัน เราก็ไม่ค่อยจะสนใจอยากรู้จัก อย่างมากก็ซื้อกองทุนตราสารหนี้บ้างอะไรบ้าง ซื้อประกันชีวิตลดหย่อนภาษี และซื้อกองทุน LTF เพื่อลดหย่อนภาษี แต่ไม่ได้สนใจอะไรจริง ๆ ว่ามันได้อะไรมาเท่าไร ตราสารหนี้ 3 เดือน 6 เดือนได้สัก 3% ก็ดีใจแล้ว (ตอนนั้นไม่เคยรู้วาเงินเฟ้อคืออะไร ปีละเท่าไร....)

      ทำไป ๆ เริ่มเบื่อกับชีวิตพนักงานบริษัท ช่วงที่เรียนโทปี 2 ก็ลาออก แล้วเรียนอย่างเดียว ช่วงนี้ก็ไม่ได้ลงทุนอะไรจริง ๆจัง ๆ นอกจากซื้อกองทุนหุ้นตามที่พ่อแนะนำ (โดยที่จริง ๆ ก็ไม่รู้วากองทุนหุ้นคืออะไร) ก็เรียน สอบ ทำโปรเจคท์ แต่ยังไงก็ตาม ก็เริ่มมองเห็นชีวิตมนุษย์เงินเดือนในมุมที่ต่างจากเดิม เห็นชีวิตเพื่อน ๆ ที่ยังทำงาน (ซึ่งก็เหมือนเราก่อนหน้านี้) แล้วก็รู้สึกว่าคนรอบตัวนั้น หายากมากที่จะมีใครมีความสุขกับชีวิตแบบที่ว่าจริง ๆ แทบทุกคนทำไปบ่นไป ไม่เรื่องใดก็เรื่องหนึ่ง เงินเดือนหาได้เยอะ ก็เอาไปซื้อโน่นนี่ ชดเชยให้ตัวเอง เพราะตอนทำงานมันไม่ค่อยมีความสุข ก็เอาเงินที่หาได้มาไปซื้อสนองความต้องการตัวเอง (เราก็เป็น ตอนทำงานช้อปเยอะเชียว แต่พอเลิกทำงาน เลิกอยากได้โน่นนี่ไปเยอะเลย)

      พอจบโท ก็ตั้งหลักว่าจะเอาไงต่อดี หางานทำสายไอทีที่เพิ่งจบมา หรืออนิเมชันที่ชอบ (ซึ่งการเริ่มอะไรใหม่ตอนอายุ 30 อัพก็อาจจะไม่ง่าย) ก็พอดีเพื่อนชวนไปทำงานชั่วคราว ก็ทำจนหมดสัญญาปลายปีที่แล้ว และก็รู้สึกว่าไม่อยากทำต่อ แล้วก็มาลองลงทุนจริง ๆ จัง ๆ อย่างที่พ่อพยายามแนะนำ (มาเป็นปี ๆ) ดูว่าจะเป็นยังไง

      ตอนเริ่ม สิ่งแรกที่ทำคือ ดูว่าเรามีเงินมีสินทรัพย์อะไรบ้าง (ซึ่งก็มีไม่มากหรอก เพราะไม่เคยทำให้มันงอกเงยเลย -_-") และเมื่อสำรวจดูแล้ว สิ่งที่เราพบก็คือว่า กองทุน LTF ของเราที่ถืออยู่และเราไม่เคยไปสนใจอะไรกับมันเลยนั้น ให้ผลตอบแทนเกิน 100% ในระยะเวลาราว ๆ 3 ปี ส่วนกองทุนหุ้นที่เพิ่งซื้อไม่นานก็ให้ผลตอบแทนพอสมควร

      ตอนนั้นถึงเริ่มเห็นว่าการลงทุนและการจัดการกับเงินตัวเองเป็นเรื่องสำคัญ

      เริ่มเข้าใจว่าทำไมพ่อถึงพยายามบอกนักหนาให้เราศึกษาและสนใจมัน

      และ...เริ่มเข้าใจว่าที่ผ่านมา การไม่สนใจเรื่องนี้เลยทำให้เราเสียโอกาสไปอย่างไรบ้าง

      เริ่มมั่นใจว่า มันน่าจะทำเป็นอาชีพได้... แต่ถึงแม้ว่าทำไม่สำเร็จ หรือสักวันหนึ่งเราจะกลับไปทำงานประจำด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตาม เราก็จะสามารถจัดการกับสิ่งที่หามาได้ได้ดีกว่าที่ผ่าน ๆ มา

      ตั้งแต่ต้นปีมาจนบัดนี้ เราก็ใช้ชีวิตแบบ "นักลงทุน (ฝึกหัด) อิสระ" มาได้ 5 เดือนแล้ว

      ในแง่ของกำไร ก็ยังไม่ได้มากมายอะไร (ดีนะยังไม่ขาดทุน) พอร์ทมีทั้งหุ้นและกองทุนที่กำไรและขาดทุน เพราะตลาดหุ้นในช่วงตั้งแต่ต้นปีมันไม่ใช่ขาขึ้นอย่างเดียวอย่างที่ผ่าน ๆ มาอีกแล้ว เจอปรับฐานแรง ๆ มา 2 รอบ (รวมรอบนี้ด้วย)

      แต่ในแง่ของการเรียนรู้ เราถือว่าจังหวะที่เราเข้ามานั้นเป็นจังหวะที่ดี เราไม่ได้อยู่กับช่วงขาขึ้นนานนัก บทเรียนมันเข้ามาเร็วมาก เราผ่านช่วงหุ้นลงแรง ๆ ครั้งแรกหลังจากเริ่มต้นซื้อหุ้นได้ไม่ถึง 2 เดือนดี ซึ่งสำหรับมือใหม่ (ที่แม้จะมีพ่อซึ่งมีประสบการณ์มานานคอยแนะนำ) มันก็เป็นเรื่องชวนให้ตื่นเต้น (พอผ่านรอบนั้นมาหลัง ๆ ก็เริ่มเฉยชาไปเรื่อย ๆ จนตอนนี้ เออ.. อยากตกตกไป ไม่ค่อยรู้สึกอะไรแล้ว) หุ้นที่ติดดอยก็มี หุ้นที่ซื้อแล้วลงก็มี (หลายตัวด้วย) ที่กำไรหลายสิบเปอร์เซ็นต์จากการที่หุ้นมัน "ติดลม" ขึ้นมาก็เคย หุ้นที่ตอนซื้อคิดว่าถูกแล้ว ปรากฎว่ามันยังมี "ถูกกว่า" ก็มี หรือบางตัวเพิ่งตระหนักว่าเราซื้อแพงก็มีอีกเหมือนกัน

      แต่ก็ยังต้องเรียนรู้อีกมาก และยังต้องขยันกว่านี้อีกมาก (มาก มาก มาก)

      เหตุผลที่ทำบล็อก อย่างแรกก็คือ เรารู้สึกว่าความไม่เข้าใจเรื่องการลงทุน ทำให้เสียโอกาสอย่างน่าเสียดาย เลยอยากแบ่งปันอะไรต่อมิอะไรที่เราได้ผ่านมาและกำลังจะพบเจอต่อไปบนเส้นทางนี้ให้คนอื่น ๆ เผื่อจะทำให้สนใจ เข้าใจมากขึ้นถึงความสำคัญของเรื่องนี้ อย่างที่สองคือ ในฐานะมือใหม่ที่ไม่เคยมีพื้นฐานอะไร ทำให้เราพอจะเข้าใจได้บ้างว่าคนที่ไม่มีพื้นฐานตรงนี้เลยไม่รู้อะไร สับสนอะไรบ้าง (การคุยกับเพื่อน ๆ ที่เริ่มสนใจเรื่องลงทุนก็พอจะทำให้เห็นประเด็นพวกนี้ชัดขึ้น เพราะหลายคนสับสนในเรื่องเดียวกัน) ก็คิดว่าอยากจะแบ่งปันความรู้หรือข้อมูลเหล่านั้น ผ่านมุมมองของคนที่เคยงงมาก่อน :-P เผื่อจะช่วยให้เข้าใจได้มากขึ้น (แต่สำหรับคนที่เชี่ยวชาญอยู่แล้ว อันนี้บล็อกนี้ก็อาจจะเป็นเรื่องจิ๊บ ๆ ประมาณว่าเอามะพร้าวห้าวมาขายสวนแหละ คงต้องอ่านเอาบันเทิงหรือบรรทมแทน) และอย่างสุดท้ายก็คือ มันจะได้เป็นแรงกระตุ้นให้เราขยันขึ้นบ้าง 55555 ประมาณว่ามี commitment สัญญาใจอะไรสักอย่าง (แม้ว่าอาจจะไม่มีคนอ่านเลยก็ตาม)

      สุดท้ายนี้ ผู้จัดทำหวังว่า บล็อกนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านบ้าง ไม่มากก็น้อย (สำนวนลงท้ายรายงานโบราณ ไม่รู้ว่ายุคนี้เด็ก ๆ ยังลงท้ายกันแบบนี้อยู่หรือเปล่า)