Wednesday 3 July 2013

สิ่งที่ดูเหมือนจะดีเกินจริง มีเงื่อนไขเสมอ

วันก่อนคุณเพื่อนเล่าให้ฟังถึง Electronic Banking ซึ่งเป็น "ลูก" ของธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง Concept คือทำทุกอย่างออนไลน์ มีจุดขายคือให้ดอกเบี้ยเงินฝากไม่ประจำซึ่งฝากถอนได้ตลอดเวลาถึง 3% ต่อปี  สำหรับยอดเงินฝาก 10 ล้านบาทแรก (เขาไม่ใช้คำว่าออมทรัพย์นะ คิดว่าเพราะไม่สามารถใช้ได้) ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ฟังดูดีเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยบัญชีออมทรัพย์ทั่ว ๆ ไปที่ฝากถอนได้ทุกวัน หรือแม้แต่กองทุนประเภทที่ให้ผลตอบแทนในระดับที่ใกล้เคียงกัน (เพราะฝากเงินความเสี่ยงน้อยกว่า)

ตอนที่ได้ยิน สิ่งแรกที่คิดคือ มันมีเงื่อนไขอะไรบ้าง

เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ยังไม่เคยเจออะไรที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าปรกติมาก ๆ เมื่อเทียบกับคู่แข่งลักษณะเดียวกัน เพราะอะไรเหล่านั้นมักจะมีเงื่อนไขมาถ่วง โดยรวมแล้วมันก็จะไม่ได้ดีกว่าปรกติมาก ตัวอย่างที่เคยเจอกับตัวเอง คือ พวกประกันชีวิตออมทรัพย์ที่โทรมาเสนอขาย ตัวแทนทั้งหลายจะพยายามพูดเฉพาะสิ่งที่เราอยากได้ยิน และปล่อยให้เราเข้าใจเอาเอง (ซึ่งมักจะเป็นเข้าใจผิด) แต่พอซักมาก ๆ เข้าจริง ๆ เราจะเจอเงื่อนไขที่เขาพยายามจะไม่พูดเสมอ ล่าสุดที่เจอมา พยายามขายประกันชีวิตออมทรัพย์โดยบอกว่าได้ดอกเบี้ยหมื่นละห้าร้อย ฟังเผิน ๆ คือได้ดอกเบี้ย 5% ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาจะไม่ยอมพูดเลย เพราะเอาเข้าจริง มันไม่ใช่ 5% ต่อปี เพราะอย่างเร็วสุด 2 ปีถึงจะถอนได้ และ มันไม่คิดดอกเบี้ยให้ในส่วนเดิม คิดให้เฉพาะส่วนที่ฝากเพิ่มในปีต่อไป แถมยังเป็นแบบคิดกันจริง ๆ แล้วปีหนึ่งได้ไม่เท่าไร และยิ่งทิ้งไว้นานยิ่งไม่ค่อยคุ้มเพราะเงินต้นส่วนแรก ๆ ที่ไม่ได้ดอกเบี้ยเพิ่ม ก็จะโตขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนที่ได้ดอกเบี้ยมีแค่ส่วนที่ฝากเพิ่มเข้าไป

ส่วนประกันชีวิตอีกอันที่เคยทำ ที่เขาไม่พูดคือ ข้อจำกัดในการถอน มันไม่ได้ถอนได้ทุกปี แต่เป็น 2 ปีครั้ง (รอถอนปีหน้าอยู่เนี่ย)

กลับมาที่ Electronic Banking ที่ว่า

ในเวบไซต์ของธนาคารไม่ได้ให้ข้อมูลเงื่อนไขมากนัก หลาย ๆ อย่างต้องเอามาประมวลเองถึงจะเข้าใจ ซึ่งโดยมากสิ่งที่ต้องเอามาประมวลเอง ก็คือสิ่งที่เป็นข้อจำกัด หรือเงื่อนไขนั่นเอง

โดยทั่วไป ธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ที่เราใช้บริการ มักจะมีบริการทางอินเตอร์เนทให้อยู่แล้ว เพียงแต่โดยมากมันจะเป็นช่องทางที่ให้เราใช้บริการสำหรับบัญชีของธนาคารนั้น ๆ ที่เรามีอยู่ (ที่ใช้อยู่ เท่าที่เห็นก็จะมีบริการเช็คยอด ดูรายการเคลื่อนไหว โอนเงิน ชำระค่าบริการต่าง ๆ) แต่ Electronic Banking อันที่ว่า จะให้เราผูกบัญชีของ Electronic Banking นี้กับบัญชีธนาคารอื่น ๆ ได้ (น่าจะไม่ถึงกับทุกธนาคาร เฉพาะธนาคารที่กำหนด)

อย่างไรก็ตาม เมื่อมันเป็นบัญชี Electronic อย่างเดียว ก็จะไม่มี ATM วิธีการถอนเงินมีอย่างเดียว (จากที่ดูในเวบ) ก็คือ "โอน" ไปยังบัญชีที่ผูกไว้

ประเด็นมันอยู่ตรงคำว่า "โอน" นี่แหละ โดยเฉพาะการโอนเงินต่างธนาคาร เพราะมันจะมีค่าธรรมเนียม

เงื่อนไขการโอน ของบัญชีเงินฝากไม่ประจำที่ว่านี้มีดังนี้
  1. ถ้าบัญชีที่ผูกไว้เป็นของธนาคารบริษัทแม่ ก็จะไม่มีค่าธรรมเนียมการโอน
  2. ถ้าบัญชีที่ผูกไว้เป็นของธนาคารอื่น ๆ
    • โอนวันธรรมการถัดไปมีค่าธรรมเนียม แต่ฟรีค่าธรรมเนียม 2 ครั้งต่อเดือน
    • โอนทันที มีค่าธรรมเนียม (ไม่มีฟรี)
ส่วนเวลาฝาก ถ้าเป็นการโอนจากบัญชีต่างธนาคารที่ผูกเอาไว้ ก็น่าจะต้องมีค่าธรรมเนียมโอนเข้าอีก อย่างไรก็ตาม Electronic Banking นี้มีสาขาให้ฝากเงินเหมือนกัน แต่น้อย

อีกประเด็นหนึ่ง คือ บัญชีนี้คือ บัญชีเงินฝาก "ไม่ประจำ" แต่ไม่ใช้ "ออมทรัพย์" (คิดว่าคงเป็นเหตุผลเงื่อนไขอะไรสักอย่างที่ทำให้มันไม่สามารถเป็น "ออมทรัพย์" ได้) ดังนั้น ภาษีดอกเบี้ยเงินฝากไม่น่าเป็นแบบออมทรัพย์ (ที่ยกเว้นภาษีให้สำหรับดอกเบี้ย 20,000 บาทแรกที่ได้) และคงไม่ใช่บัญชีเงินฝากแบบยกเว้นภาษี (ไม่งั้นจะต้องเอามาเป็นจุดขายแล้ว) แต่หาไม่เจอเหมือนกันว่ามันคิดภาษีแบบไหน ยังไงก็ตาม สิ่งที่ต้องคิดคือ 3% ไม่ใช่ 3% เต็ม ๆ แต่มีการหักภาษี

โดยสรุป
  • มันคือ Internet Banking อีกยี่ห้อ (และอีกเงื่อนไข) ของธนาคารที่เป็นบริษัทแม่เพราะธุรกรรมกับบัญชีที่เป็นของธนาคารบริษัทแม่ ถือเป็นธุรกรรม "ธนาคารเดียวกัน" แต่ธุรกรรมกับต่างธนาคาร มีค่าธรรมเนียม (Internet Banking ที่ใช้อยู่ก็โอนเงินต่างธนาคารได้โดยมีค่าธรรมเนียม เพียงแต่ไม่มีแบบโอนวันรุ่งขึ้นซึ่งให้ฟรี 2 หนต่อเดือน) แต่เป็น Internet Banking ที่ข้อจำกัดเยอะกว่าของธนาคารบริษัทแม่โดยตรง แลกกับดอกเบี้ยที่มากกว่าบัญชีฝากไม่ประจำแบบเดียวกัน
  • ดอกเบี้ยเงินฝากที่ได้ ต้องหักภาษี และคงไม่ใช่เงื่อนไขภาษีดอกเบี้ยเงินฝากออทรัพย์
  • ถึงจะเรียกตัวเองว่าบัญชีเงินฝาก และทำรายการได้ตลอด 24 ชม. แต่สภาพคล่องในการถอนเงินต่างกันด้วยเงื่อนไขการโอนที่ว่า คือถ้าต้องการโอนทันทีฟรีตลอด ก็ต้องเป็นบัญชีธนาคารบริษัทแม่เท่านั้น นอกนั้นฟรี 2 หนต่อเดือนเฉพาะแบบที่โอนวันนี้ได้วันรุ่งขึ้น (และนับการทำรายการหลังสี่ทุ่มเป็นรายการของวันรุ่งขึ้น คือทำรายการ 24 ชั่วโมง แต่มันไมได้มีผลทันทีตลอด 24 ช่วโมงเสมอไป)
  • ข้อดีคือ ไม่มียอดเงินขั้นต่ำ ไม่มีค่ารักษาบัญชี
ที่เอามาเขียนนี่ ไม่ได้กำลังบอกว่ามันไม่ดี อย่าฝากนะ อะไรทำนองนี้ แต่อยากให้มองถึงเงื่อนไขต่าง ๆ ที่มาพร้อมกับผลประโยชน์ที่ได้ ไม่เฉพาะสำหรับรายการนี้ แต่รวมถึงข้อเสนอแบบอื่น ๆ จากผู้ให้บริการรายอื่น ๆ ด้วย เพื่อที่จะได้ประเมินผลประโยชน์จริง ๆ ที่จะได้รับ และเปรียบเทียบ รวมทั้งตัดสินใจในการลงทุน (หรือใช้บริการใด ๆ) ได้ดีกว่าเดิม อย่างบัญชีฝากไม่ประจำอันนี้ ถ้าเราไม่คิดจะถอนเงินเกินเดือนละ 2 หน (คือตั้งใจใช้เก็บเงิน) หรือมีบัญชีธนาคารบริษัทแม่อยู่แล้ว มันก็อาจจะเป็นทางเลือกที่ดี เมื่อเทียบกับการลงทุนประเภทอื่นที่ให้ผลตอบแทนต่อปีใกล้เคียงกัน (ต้องหักภาษีเงินฝากแล้วค่อยเทียบกัน) เช่น ถ้าเทียบกับกองทุนที่ให้ผลตอบแทนต่อปีใกล้เครียงกัน ความเสี่ยงมันก็จะน้อยกว่ามาก หรือเทียบการซื้อประกันชีวิตออมทรัพย์ที่คำนวณแล้วผลตอบแทนต่อปีไม่ต่างกันมาก สภาพคล่องก็จะดีกว่า เพราะถอนฟรีเดือนละ 2 ครั้ง สภาพคล่องก็ยังดีกว่าถอนได้ปีละหน (เป็นอย่างเร็ว) ของประกันชีวิตออมทรัพย์ส่วนมาก (แต่ถ้าระยะยาวทิ้งไว้นาน ๆ ถ้าประกันชีวิตให้ผลตอบแทนดีกว่าแล้วเราไม่คิดจะถอนออกมาก็อีกเรื่อง แล้วแต่ว่าเราอยากทำแบบไหน)

การลงทุนมีความเสี่ยง...และมีเงื่อนไข :-P ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนตัดสินใจ (แม้บางครั้งข้อมูลมันจะแอบอยู่ในที่ที่สังเกตเห็นยาก ก็ต้องล้วงออกมาให้ได้)

No comments:

Post a Comment