Tuesday 11 June 2013

หัวดอกทิวลิปกับการเก็งกำไร

เปลี่ยนบรรยากาศจากสาระ (ที่ไม่ค่อยมี) มาเป็นเรื่องเล่าที่น่าสนใจบ้างดีกว่า

เมื่อวันก่อนไปยืมหนังสือมาจากห้องสมุดมารวย เล่มนี้คนที่สนใจการลงทุนอาจจะรู้จักชื่ออยู่บ้าง คือ A Random Walk Down Wall Street ของ Burton G.Malkiel เคยยืมมารอบหนึ่งแล้วแต่ยังอ่านไม่จบเพราะหนังสือหนามากและเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งในเรื่องที่ไม่ถนัดหรือไม่มีพื้นฐานนี่ก็ต้องใช้เวลาอยู่เหมือนกัน

ยังอ่านไปไม่ถึงไหนสักเท่าไร แต่จะเก็บความเรื่องที่รู้สึกว่าน่าสนใจจากที่อ่านมาแล้วมาเล่า

ในหนังสือเล่มนี้ช่วงแรกก็จะว่าด้วยหุ้นกับมูลค่าของหุ้น และเล่าถึงเหตุการณ์เกี่ยวกับการเก็งกำไรในสมัยก่อน หนึ่งในนั้นก็คือเรื่องของ "ความคลั่งไคล้หัวดอกทิวลิป"

ในการลงทุนต่าง ๆ สิ่งลงทุนต้องการคือกำไร และอะไรก็ตามที่ดูแล้วมันให้ผลตอบแทนดี มีคนได้กำไรเยอะ มันก็ทำให้มีคนเก็งกำไร ในยุคนี้อาจจะเป็น หุ้น ที่ดิน แต่ในสมัยก่อนนั้น หัวดอกทิวลิป ก็กลายเป็นสิ่งที่เก็งกำไรจนกลายเป็นฟองสบู่ได้เหมือนกัน...

เมื่อคนคลั่งไคล้และโลภจนมองไม่เห็นอะไรนอกจากกำไร

เรื่องนี้เกิดขึ้นในฮอลแลนด์ ดินแดนดอกทิวลิป ในช่วงศตวรรษที่ 17

เหตุการณ์ที่นำไปสู่การเก็งกำไรหัวดอกทิวลิปอย่างบ้าคลั่งนี้เริ่มต้นในปี 1593 เมื่อศาตราจารย์ทางพฤกษศาสตร์จากเวียนนาคนหนึ่ง นำพืชแปลก ๆ จากตุรกีเข้ามายังไลเดน (เมืองหนึ่งในฮอลแลนด์) ชาวดัตช์ทั้งหลายก็ใฝ่ฝันอยากได้พืชแปลก ๆ พวกนี้ไปปลูกในสวนของตัวเองบ้าง แต่ไม่อยากซื้อในราคาที่ศาตราจารย์ตั้งไว้ (ศาสตราจารย์ก็อยากได้กำไรงาม ๆ เหมือนกัน) ดังนั้น ในคืนหนึ่ง ก็มีหัวขโมยเข้าไปขโมยหัวพืชที่ว่านี่มา แล้วนำมาขายต่อในราคาที่ต่ำกว่าที่ศาตราจารย์ตั้งเอาไว้ แต่ได้กำไรมากกว่า (ก็มันขโมยมา...)

ราว ๆ อีกหนึ่งทศวรรษหลังจากนั้น ไอ้เจ้าพืชที่ว่า ซึ่งก็คือทิวลิปนี่แหละ ก็ได้รับความนิยมในหมู่ชาวดัตช์ (เอาไปปลูกในสวน) แต่ก็เป็นของที่มีราคาแพง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกที่มีสีสันแปลก ๆ อันเกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Mosaic จะได้รับความนิยมมาก ยิ่งแปลกก็ยิ่งแพง ความคลั่งไคล้ในดอกทิวลิปก็ค่อย ๆ ก่อตัวขึั้น ช่วงแรก ๆ พวกพ่อค้าก็เพียงแต่พยายามจะคาดการณ์ว่าสไตล์ไหนจะเป็นที่นิยมในปีต่อไป (เหมือนแฟชันเสื้อผ้า)  แล้วก็สต็อกหัวดอกทิวลิปสไตล์ที่ว่าเอาไว้เยอะเป็นพิเศษโดยหวังทำกำไรจากราคาที่จะสูงขึ้น ราคาหัวดอกทิวลิปก็เลยขึ้นอย่างรวดเร็วมาก ยิ่งหัวดอกทิวลิปแพงขึ้นคนที่เห็นว่าการลงทุนในหัวดอกทิวลิปเป็นการลงทุนที่ชาญฉลาดก็ยิ่งเพิ่มขึ้น ใคร ๆ ไม่ว่าชนชั้นไหน อาชีพไหนก็พูดกันถึงแต่เรื่องดอกทิวลิป แล้วก็คิดว่าความคลั่งไคล้ในดอกทิวลิปนี้จะคงอยู่ไปตลอดชัวกาลนาน คนที่ไม่คิดว่าราคามันจะขึ้นไปได้อีกก็ได้แต่มองเพื่อนฝูงญาติโยมทำกำไรมหาศาลจากดอกทิวลิปจนทนความเย้ายวนของกำไรไม่ไหว (และแน่นอนว่าคงโดดเข้าไปเล่นด้วย) ในปีหลัง ๆ ของช่วงบ้าทิวลิป (ประมาณ 1634 ถึงช่วงต้นของ 1637) ผู้คนถึงกับเอาทรัพย์สินของตัวเอง ทั้งที่ดิน เครื่องเพชร เฟอร์นิเจอร์ ไปแลกเปลี่ยน (barter) เพื่อให้ได้เป็นเจ้าของหัวดอกทิวลิป ราคาของหัวดอกทิวลิปเพิ่มขึ้นสูงลิ่ว

ยิ่งการเก็งกำรไรเพิ่มขึ้น ก็ทำให้มีคนสร้างเครื่องมีมีรองรับความต้องการเก็งกำไรของคน (เหมือนกับในตลาดหุ้นสมัยนี้) เครื่องมือที่ว่าเรียกว่า "call options" ซึ่งก็คือการทีเจ้าของ option ได้สิทธิ์ที่จะซื้อหัวดอกทิวลิปในราคาตายตัว (ซึ่งมักอิงจะเป็นราคาตลาดในขณะนั้น) ในช่วงเวลาที่กำหนด ผู้ซืั้อจะต้องจ่ายค่า option premium ประมาณ 15-20% ของราคาตลาด ตัวอย่าง เช่น ถ้าดอกทิวลิปราคาตลาดอยู่ที่ 100 กิลเดอร์ ผู้ซื้อ option ของดอกทิวลิปที่ว่าจะจ่ายเงินเพียงแค่ประมาณ 20 กิลเดอร์ และเมื่อราคาขึ้นไปถึง 200 กิลเดอร์ ผู้ถือ option ก็จะใช้สิทธิ์ โดยการซื้อทิวลิปในราคา 100 กิลเดอร์ (ราคาตลาดตอนที่ซื้อ option) และขายทันทีที่ 200 กิลเดอร์ (ราคาตลาดตอนขาย) ก็จะได้กำไร 80 กิลเดอร์ (กำไรจากส่วนต่างของราคา 200-100 = 100 กิลเดอร์ ลบด้วยค่า option ที่จ่ายไป 20 กิลเดอร์) คิดเป็นกำไรถึง 4 เท่าตัว คือ จ่าย 20 ได้มา 80 ในขณะที่ถ้าซื้อขายปรกติ ก็ได้กำไรแค่ 2 เท่า คือจ่าย 100 ได้ 200 วิธีนี้เพิ่มทั้งกำไร และความเสี่ยง (คิดเลขไม่เก่ง แต่ลองสมมติว่า ถ้าราคาขายถูกกว่าราคาซื้อ ก็พบว่าจะขาดทุนมากกว่าซื้อขายปรกติเช่นกัน) แล้วก็ยิ่งทำให้มีคนเข้ามาเก็งกำไรมากขึ้นไปอีก

หลังจากที่ราคาดอกทิวลิปเพิ่มขึ้นอีก 20 เท่าในเดือนมกราคม 1637 ฟองสบู่ก็แตก และราคาก็ร่วงลงมากกว่านั้นในเดือนถัดมา ด้วยเหตุผลเดียวกับการเก็งกำไรอื่น ๆ คือ เมื่อราคามันขึั้นไปสูงมาก ๆ คนจำนวนหนึ่งก็เริ่มรู้สึกว่าขายเอากำไรน่าจะดีกว่า แล้วก็มีคนทำตามเรื่อย ๆ ราคาหัวดอกทิวลิปตกลงมาอย่างรวดเร็วจนคนแตกตื่น แม้ว่าทางรัฐบาลจะพยายามประกาศอย่างเป็นทางการว่า ไม่มีเหตุอะไรที่จะทำให้ราคาดอกทิวลิปตก แต่ก็ไม่มีใครฟัง ราคาก็ตกลงไปเรื่อย ๆ จนในทุ่สุดก็แทบไม่มีค่า เหลือราคาซื้อขายเท่า ๆ กับราคาหัวหอมธรรมดา ๆ เท่านั้น

ตอนที่เขียนถึงเรื่องที่ราคาตกนี้ ผู้เขียนได้ให้ความเห็นว่า ราคาหัวดอกทิวลิปที่สูงแพง ๆ นั้น แม้จะไม่ได้แพงโดยไร้เหตุผลเสียทั้งหมด เพราะหัวดอกทิวลิปบางชนิดซึ่งหายากและสวยงามจริง ๆ นั้น ก็แพงมาตั้งแต่ก่อนจะเกิดฟองสบู่ดอกทิวลิป แล้วก็ยังคงแพงต่อไปหลังจากฟองสบู่แตก (แต่แน่นอนว่าราคามันเทียบไม่ได้กับช่วงที่คนบ้าดอกทิวลิปกัน) แต่การที่ราคาดอกทิวลิปขึ้นไปรวดเดียว 20 เท่า แล้วร่วงลงมามากกว่านั้นในเดือนถัดมานั้นก็ไม่มีเหตุผลอะไร (ทางพื้นฐานของดอกทิวลิป) มารองรับ มันร่วงเพราะคนได้กำไรเยอะแล้วก็เลยขาย ขายมาก ๆ ราคาก็ตก


ที่อ่านแล้วรู้สึกว่าเรื่องนี้น่าสนใจก็เพราะว่า มันแสดงให้เห็นว่าอะไรก็ตาม ยุคไหนก็ตาม ถ้าเกิดการเก็งกำไรขึ้นมา เมื่อคนโลภจนลืมกลัว ก็จะทำให้ราคาของอะไรสักอย่างมันขึ้นไปได้อย่างไม่สมเหตุสมผลเพราะคนซื้อโดยคาดหวังจะขายต่อให้แพงกว่าเดิม แต่ในที่สุด เมื่อราคามันสูงเกินไปมันก็จะปรับกลับลงมาตามที่ควรจะเป็นอยู่ดี ไม่ว่าจะเป็นหัวทิวลิปในสมัยก่อน หรือที่ดิน หรือหุ้นในยุคต่อ ๆ มา แค่เปลี่ยนของประกอบฉาก แต่ตัวละคร ความโลภ และความกลัวยังเหมือนเดิม


เรื่องราวเหตุการณ์ความคลั่งไคล้ดอกทิวลิป เก็บความจาก A Random Walk Down Wall Street โดย Burton G.Malkiel ใน Part 2 หัวข้อ The Tulip-Bulb Craze

No comments:

Post a Comment