Monday 10 June 2013

ธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน และบริษัทหลักทรัพย์ กับความสับสนของมือใหม่

จากการคุยกับเพื่อนฝูงรอบตัวเกี่ยวกับกองทุน พบว่าความสับสนร่วมกันของหลาย ๆ คนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการลงทุนเลยอย่างหนึ่งก็คือ เข้าใจว่าการซื้อหน่วยลงทุนกองทุนนั้นจะต้องไปซื้อที่ธนาคาร และเป็นการซื้อจากธนาคาร ซึ่งจริง ๆ มันก็ชวนงง (และเราเองก็เคยงงเหมือนกัน) เพราะบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนเจ้าที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารใดธนาคารหนึ่งนั้น ทั้งชื่อและตรามันก็คล้าย ๆ ธนาคารนั่นแหละ

เอามาอธิบาย โดยรวมถึงบริษัทหลักทรัพย์ (ซึ่งก็ชวนงงในลักษณะเดียวกัน) เสียเลย

อันว่าธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (ต่อไปนี้จะขอเรียกด้วยตัวย่อว่า บลจ.) และ บริษัทหลักทรัพย์ (เรียกด้วยตัวย่อว่า บล.) นั้น เป็น 3 ธุรกิจ ที่ให้บริการต่าง ๆ กัน ซึ่งจะขอพูดถึงเฉพาะบริการที่ใช้งานกันทั่วไป ไม่รวมถึงบริการเฉพาะเจาะจงที่เราไม่รู้จัก (ขี้เกียจหาข้อมูลเพิ่มน่ะ เอาเท่าที่ใช้พอ)


  • ธนาคาร (Bank) - ธนาคารให้บริการธุรกรรมต่าง ๆ ที่เราคุ้นเคยกันดีก็คือ การฝากเงิน การถอนเงิน แล้วก็การกู้ยืมเงิน อาจมีบริการอื่น ๆ อีก เช่น แลกเปลี่ยนเงินตรา รวมทั้งเป็นช่องทางบริการขายหน่วยลงทุนให้ บลจ.ที่เป็นบริษัทลูก (หรือ บลจ.อื่น ๆ ด้วย) ดังนั้น การซื้อกองทุนก็ซื้อที่ธนาคารได้ แต่ก็แล้วแต่ว่าธนาคารไหนขายให้ บลจ.ไหนบ้าง (ส่วนมากก็เน้นขายลูกตัวเองนะคะ) และกองทุนที่เราซื้อไม่ใช่ของธนาคาร แต่เป็นของ บลจ.นะเจ้าคะ รายได้ของธนาคารก็จะมาจากดอกเบี้ยเงินกู้ ค่าธรรมเนียม และอื่น ๆ (แปลว่าเราไม่รู้นั่นเอง รู้แต่ว่าอาจจะมี) ตัวอย่างธนาคารที่รู้จักกันดีก็มี ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนคารธนชาต ธนาคารเกียรตินาคิน เป็นต้น
  • บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (Asset Management/Fund) - บลจ. ก็จะขายกองทุนรวมต่าง ๆ ให้กับผู้สนใจจะลงทุน เช่น กองทุนหุ้น กองทุนตราสารหนี้ และอื่น ๆ รวมทั้งบริการเกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ นอกจากนี้ยังมีบริการกองทุนส่วนบุคคล (ไม่เคยใช้บริการ ไม่รู้รายละเอียดเหมือนกัน) รายได้ของ บลจ. ก็มาจากอะไรต่อมิอะไรในการให้บริการกองทุนนี่แหละ เช่น ค่าบริหารจัดการกองทุน ค่าธรรมเนียม บลจ.ก็มีทั้ง บลจ.ที่เป็นบริษัทลูกของธนาคาร เช่น บลจ.บัวหลวง บลจ.กรุงศรี บลจ.ธนชาต (ดูจากชื่อคงไม่ต้องบอกว่าใครลูกใคร) และ บลจ. ที่ไม่ได้เป็นบริษัทลูกของธนาคาร เช่น บลจ.ไอเอ็นจี (แต่ตอนนีขายให้บลจ.ยูโอบีไปแล้ว ก็เป็นลูกธนาคารยูโอบีไป) บลจ.วรรณ บลจ.อเบอร์ดีน เป็นต้น
  • บริษัทหลักทรัพย์ (Securities) - พวก บล. ก็คือที่เรียก ๆ กันว่าโบรกเกอร์นั่นเอง บริการหลัก ๆ ก็คือให้บริการซื้อขายหุ้น อนุพันธ์ ตราสารหนี้ และอื่น ๆ เห็นหลาย ๆ เจ้าก็ขายหน่วยลงทุนให้ บลจ.ต่าง ๆ ด้วย สำหรับการบริการซื้อขายหุ้น บล.ก็จะมีรายได้จากค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เวลาที่ลูกค้าซื้อขายหุ้น อนุพันธ์ และอื่น ๆ แล้วก็มีบริการอื่น ๆ อีก (ลองไปดูในเวบโบรกเกอร์แต่ละเจ้าก็ได้) บล.ก็มีทั้งที่เป็นบริษัทลูกของธนาคาร เช่น บล.บัวหลวง บล.กรุงศรี บล.ธนชาต และที่ไม่ได้เป็นบรษัทลูกของธนาคารเช่น บล.เอเชียพลัส เป็นต้น (บางอันเราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าลูกใครหรือเปล่า)
ความรู้เรามีเท่าหางอึ่ง ก็อธิบายได้แค่หางอึ่งนี่แหละ ถ้าจะพยายามอธิบายตัวอึ่ง หัวอึ่ง ที่เราไม่รู้นี่ เดี๋ยวมันจะเพี้ยนเป็นตัวอะไรประหลาด ๆ เปล่า ๆ (แค่นี้ก็อาจจะมีเพี้ยนแล้วมั้ง)

โดยสรุปสั้น ๆ เอาเท่าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ก็คือ ถ้าจะฝากเงินหรือกู้เงินให้ติดต่อธนาคาร ถ้าสนใจจะซื้อกองทุนติดต่อ บลจ. ส่วนถ้าสนใจจะซื้อขายหุ้น (และตราสารอื่น ๆ) ให้ติดต่อ บล. ... จบข่าว

No comments:

Post a Comment